บพค. ร่วมลงพื้นที่รับมอบนโยบายและตรวจราชการกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ณ จังหวัดอุดรธานี

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วย ดร.ศรัญญา แข้คำ และ ดร.ศุภฤกษ์ บุพศิริ นักวิเคราะห์อาวุโส บพค. ร่วมเดินทางลงพื้นที่มอบนโยบายหัวหน้าส่วนราชการในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และตรวจราชการหน่วยงาน อว. ส่วนหน้าของเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (โซน 1) โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายฯ พร้อมด้วยแพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. และผู้บริหารหน่วยงานในกระทรวง อว. โดยมี นางคณิตา ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี พร้อมคณาจารย์ พนักงานมหาวิทยาลัยและผู้นำชุมชนท้องถิ่นให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

การประชุมฯ ในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อรับฟังความก้าวหน้าการดำเนินงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (โซน 1) ได้แก่ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย และบึงกาฬ ในฐานะมหาวิทยาลัยที่มุ่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ในรูปแบบ อว. ส่วนหน้า รวมถึงมอบนโยบายการอุดมศึกษา การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมสำหรับปีงบประมาณ 2567 และแนวทางการสนับสนุนโครงการเร่งด่วน (Quickwin) ที่จะมอบให้แก่ประชาชนภายในสิ้นปี 2566 นี้
น.ส.ศุภมาสฯ กล่าวว่า “กระทรวง อว. เป็นกระทรวงสำคัญที่มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคน แก้ไขปัญหาให้แก่คนในพื้นที่ร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะอาชีพตลอดชีวิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวบ้าน และมีภารกิจสำคัญในการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนอีกประการหนึ่งคือ การแก้ความยากจน ซึ่งจะต้องทำให้วิทยาศาสตร์ลงไปนำเศรษฐกิจฐานราก และให้ประชาชนเรียนรู้ที่จะนำเอาสิ่งที่มีอยู่มาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

โอกาสนี้ น.ส.ศุภมาสฯ ยังได้กล่าวย้ำถึงนโยบาย “เรียนดี มีรายได้ มีความสุข” ของกระทรวง อว. ให้มีการเรียน ควบคู่กับการทำงานมีรายได้ไปด้วย มีระบบ Coaching แบบพี่ดูแลน้อง เพื่อให้การเรียนประสบความสำเร็จได้ อีกทั้งการเรียนในรูปแบบ Short course ที่เป็น Skill certificate (Non-degree) ยังเป็นส่วนสำคัญที่ผู้เรียนบางคนไม่ได้ต้องการเฉพาะใบปริญญาบัตร แต่สามารถเรียนในระยะเวลาสั้นแล้วออกไปทำงานได้ทันที นอกจากนี้ ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษยังเป็นทักษะที่คนทั่วไปยังขาดอยู่ ต้องการเติมเต็มให้ได้อย่างทั่วถึงและทุกช่วงวัย
การพัฒนาทักษะเดิม-เพิ่มทักษะใหม่ (Re-skill/Up-skill) ของประชาชนทั่วไปเป็นอีกกลไกหนึ่งของระบบ อววน. ที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะตลอดชีวิต ซึ่งสามารถเพิ่มรายได้เข้ากระเป๋าแก่ประชาชนได้ดี เนื่องจากยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแบบรวดเร็วและฉับพลัน กระทรวง อว. จึงสนับสนุนการเรียนรู้รูปแบบนี้เป็นสำคัญ

ในปี 2567 นี้ กระทรวง อว. สนับสนุนค่าสมัครสอบ TCAS แก่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และให้โอกาสเข้าถึงการเรียนต่อในระบบมหาวิทยาลัยได้มากที่สุด ตลอดจนขอให้ทางที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) พิจารณาลดค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบต่างๆ ให้ลดลงกว่าเดิมอีกด้วย
หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมฯ ศ.ดร.สมปองฯ ได้รับชมการนำเสนอผลงานของนักเรียนจากโรงเรียนภายในจังหวัดอุดรธานี และรับฟังการกล่าวขอบคุณที่ลดค่าใช้จ่ายการสมัครสอบ TCAS ประจำปี 2567 ในครั้งนี้ด้วย จากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (ศูนย์สามพร้าว) อันเป็นที่ตั้งของคณะวิทยาศาสตร์ และคณะอื่นๆ ที่มีห้องปฏิบัติการสำหรับการทำวิจัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรในพื้นที่ ทั้งในรูปแบบการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช การออกแบบพื้นที่การเกษตร การตรวจวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมของพืช และการดูแลรักษาเครื่องมือเทคโนโลยีการเกษตร สุดท้ายนี้ ได้เข้าเยี่ยมชมบริษัท อุดรมาสเตอร์เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรในการพัฒนารูปแบบการรักษาความสุกของทุเรียนที่ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งในเชิงของการกักเก็บห่อหุ้มและการใส่สารเคมีเร่งปฏิกิริยา เพื่อให้ทุเรียนที่ออกจากประเทศไทยยังคงมีความอร่อยพอดีดังเช่นที่ออกจากสวนใหม่ๆ