มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ร่วมจัดประชุมวิชาการ ระดับชาติและนานาชาติ “ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 7” The 7th Rajabhat University National and International Research and Academic Conference ภายใต้แนวคิด วิจัย นวัตกรรม พลิกโฉมการพัฒนาท้องถิ่น สู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 14 – 16 พฤศจิกายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ภายในงานมีการแสดงเปิดงาน “ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ ๗” ชื่อการแสดง วิถีไทสกลม่วนซื่นละเบ๋อ จากสถาบันภาษาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมพื้นถิ่นอีสานของจังหวัดสกลนคร ผสมผสานกับวัฒนธรรมร่วมสมัย ผ่านการแต่งกายที่ใช้ผ้าฝ้ายย้อมครามที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดสกลนคร บ่งบอกถึงการส่งผ่านวัฒนธรรมดั้งเดิมสู่ความทันสมัยของเด็กรุ่นใหม่ที่ผสมผสานอย่างลงตัวและมีความม่วนซื่นแบบอีสาน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทางด้านวิชาการที่สำคัญและน่าสนใจอีกมากมาย อาทิ งานประชุมวิชาการ การนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติแบบบรรยาย และแบบโปสเตอร์ การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการ 38 มรภ. กับการน้อมนํา “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” นิทรรศการเชิดชูนักวิจัยดีเด่น การประกวดนวัตกรรม เทคโนโลยี งานวิจัยรับใช้สังคม และ Highlight Stage บรรยายพิเศษและเสวนา
ในการนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้รับเกียรติเชิญให้บรรยายพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง “ทิศทางและแนวทางการสนับสนุนการสร้างกำลังคนของ บพค. ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏของประเทศไทย” โดยได้มุ่งเน้นประเด็นการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านซอฟต์พาวเวอร์ ให้เป็นนิคมนวัตกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Innovation Hub) และการพัฒนากำลังคน (Upskill/Reskill) ทางด้านซอฟต์พาวเวอร์ ของประเทศไทย สู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ระดับโลก ภายใต้การสนับสนุนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยเฉพาะเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่มีความโดดเด่นทางด้านซอฟต์พาวเวอร์ บพค. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนและพัฒนากำลังคนให้เกิดทักษะ และอาชีพ หรือการเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นพร้อมการใช้เทคโนโลยีให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ต้องตั้งเป้าระดับโลกร่วมกัน และเป็นมาตรฐานนวัตกรรมภูมิปัญญาไทย เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การพลิกโฉมการพัฒนาท้องถิ่น เศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน