บพค. เข้าร่วมการประชุมวิชาการ “ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 7” วิจัย นวัตกรรม พลิกโฉมการพัฒนาท้องถิ่น สู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน”

มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ร่วมจัดประชุมวิชาการ ระดับชาติและนานาชาติ “ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 7” The 7th Rajabhat University National and International Research and Academic Conference ภายใต้แนวคิด วิจัย นวัตกรรม พลิกโฉมการพัฒนาท้องถิ่น สู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 14 – 16 พฤศจิกายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ภายในงานมีการแสดงเปิดงาน “ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ ๗” ชื่อการแสดง วิถีไทสกลม่วนซื่นละเบ๋อ จากสถาบันภาษาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมพื้นถิ่นอีสานของจังหวัดสกลนคร ผสมผสานกับวัฒนธรรมร่วมสมัย ผ่านการแต่งกายที่ใช้ผ้าฝ้ายย้อมครามที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดสกลนคร บ่งบอกถึงการส่งผ่านวัฒนธรรมดั้งเดิมสู่ความทันสมัยของเด็กรุ่นใหม่ที่ผสมผสานอย่างลงตัวและมีความม่วนซื่นแบบอีสาน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทางด้านวิชาการที่สำคัญและน่าสนใจอีกมากมาย อาทิ งานประชุมวิชาการ การนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติแบบบรรยาย และแบบโปสเตอร์ การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการ 38 มรภ. กับการน้อมนํา “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” นิทรรศการเชิดชูนักวิจัยดีเด่น การประกวดนวัตกรรม เทคโนโลยี งานวิจัยรับใช้สังคม และ Highlight Stage บรรยายพิเศษและเสวนา

ในการนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้รับเกียรติเชิญให้บรรยายพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง “ทิศทางและแนวทางการสนับสนุนการสร้างกำลังคนของ บพค. ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏของประเทศไทย” โดยได้มุ่งเน้นประเด็นการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านซอฟต์พาวเวอร์ ให้เป็นนิคมนวัตกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Innovation Hub) และการพัฒนากำลังคน (Upskill/Reskill) ทางด้านซอฟต์พาวเวอร์ ของประเทศไทย สู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ระดับโลก ภายใต้การสนับสนุนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยเฉพาะเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่มีความโดดเด่นทางด้านซอฟต์พาวเวอร์ บพค. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนและพัฒนากำลังคนให้เกิดทักษะ และอาชีพ หรือการเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นพร้อมการใช้เทคโนโลยีให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ต้องตั้งเป้าระดับโลกร่วมกัน และเป็นมาตรฐานนวัตกรรมภูมิปัญญาไทย เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การพลิกโฉมการพัฒนาท้องถิ่น เศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน

ขอบคุณรูปภาพ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร