บพค. ประชุมหารือแนวทางการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย “โครงการรูปแบบและนวัตกรรมการเรียนรู้แบบสมาร์ตสำหรับการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในสภาพแวดล้อมดิจิทัล”

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ บพค. และทีมนักวิเคราะห์ จัดประชุมหารือแนวทางการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย “โครงการรูปแบบและนวัตกรรมการเรียนรู้แบบสมาร์ตสำหรับการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในสภาพแวดล้อมดิจิทัล” ประจำปีงบประมาณ 2564 ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.กุลธิดา ท้วมสุข สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าโครงการ ณ ห้องประชุมหว้ากอ 2 ชั้น 14 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และผ่านระบบ Zoom Meeting

การประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายหน่วยงานมาให้ข้อคิดเห็น ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว ผู้ทรงคุณวุฒิ บพค. ดร.ธิดารัตน์ โกมลวานิช ผู้เชี่ยวชาญนโยบายอาวุโส สอวช. รองศาสตราจารย์ ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ดร.พรชัย อินทร์ฉาย รองผู้อำนวยการ สสวท. ดร.เขมวดี พงศานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเครือข่ายและพัฒนาครู สสวท. ดร.พิเชฎษ์ จับจิตต์ รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดร.ประวีณา อัสโย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และนางสาวอุษา คงสาย นักวิชาการศึกษาชำนาญการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สกศ.

“โครงการรูปแบบและนวัตกรรมการเรียนรู้แบบสมาร์ตสำหรับการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในสภาพแวดล้อมดิจิทัล” มุ่งพัฒนา Smart Learning Innovation ให้อยู่ในรูปแบบ Digital Platform เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนในสภาพแวดล้อมดิจิทัล สำหรับนักเรียนชั้น ม.1-ม.3 โดยสร้างเป็น 5 แพลตฟอร์ม สำหรับแต่ละชั้นเรียน ได้แก่ 1) Digital Learning Platform 3 รายวิชา คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ที่มีโครงสร้าง เนื้อหา เครื่องมือ และกิจกรรมที่ครูสามารถนำไปใช้สอนทั้งแบบ onsite และ online ได้ และนักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่มเติมได้ 2) Digital Teacher Training Platform สำหรับพัฒนาสมรรถนะครู และ 3) Digital Testing Platform สำหรับการวัดสมรรถนะการเรียนรู้ของนักเรียนทั้ง 3 รายวิชา ปัจจุบันดำเนินการพัฒนา Digital Platform สำหรับนักเรียนชั้น ม.1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และนำไปทดลองใช้งานจริงที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (วิทยาเขตหนองคาย) พร้อมพัฒนา Digital Platform สำหรับนักเรียนชั้น ม.2 – ม.3 ต่อไป
ด้านผู้ทรงคุณวุฒิมีข้อคิดเห็นร่วมกันว่า โครงการดังกล่าวมีผลผลิตที่ช่วยพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทยได้ จึงควรมีการศึกษาและพัฒนาต่อยอด นำไปใช้ในการพัฒนาสมรรถนะการจัดการเรียนการสอนของครูให้เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) เชื่อมโยงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสมรรถนะของนักเรียน รวมไปถึงบทบาทและสมรรถนะของผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสมรรถนะการสอนของครูให้บังเกิดผล โดยขยายขอบเขตและจำนวนพื้นที่การพัฒนาไปสู่โรงเรียนเครือข่ายของ สสวท. สพฐ. และสภาการศึกษา ซึ่ง สสวท. สพฐ. และสภาการศึกษา ยินดีและพร้อมที่จะร่วมดำเนินการขยายผลโครงการเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาของไทยให้ก้าวหน้าต่อไป