บพค. จับมือ University of Science and Technology (UST) แห่งสาธารณรัฐเกาหลี จัดทำ MOU สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ยกระดับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตผ่านแพลตฟอร์มวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย

วันที่ 14 กันยายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยพนักงาน บพค. จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต เพื่อสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงให้แก่ประเทศผ่านแพลตฟอร์มวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences, TAS) หรือ “ธัชวิทย์” กับผู้บริหาร University of Science and Technology (UST) สาธารณรัฐเกาหลี นำโดย Dr. Ieehwan KIM อธิการบดี UST และคณะผู้ติดตาม ณ ห้องอินฟินิตี้ บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะกรรมการบริหาร บพค. เป็นประธานในพิธีฯ พร้อมด้วย นางสุวรรณี คำมั่น ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร บพค. และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผู้บริหารสถาบันวิจัย ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนนักวิจัยร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีดังกล่าว

บพค. ได้รับมอบหมายภารกิจในการขับเคลื่อนวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในรูปแบบ Virtual platform ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ในการเป็นตัวกลางผสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ตลอดจนสถาบันในต่างประเทศ เพื่อดึงเอาศักยภาพของแต่ละหน่วยงานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตอบโจทย์ต่อเป้าหมายของประเทศ ผ่านการขับเคลื่อน 3 กลไก ได้แก่ มิติที่ 1 ธนาคารความคิดคลังสมองของประเทศ (Frontline Think Tank) มิติที่ 2 การสร้างงานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Science Alliances) และมิติที่ 3 นักวิทย์สมรรถนะสูง (Future Graduate Platform) นั้น ทาง บพค. เห็นว่า University of Science and Technology (UST) แห่งสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เพียบพร้อมด้วยอาจารย์ นักวิจัย โครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือการทำวิจัย และเงินทุนสนับสนุน ตลอดจนมีสถานที่อยู่ครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศเกาหลีใต้ จึงเห็นสมควรให้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง บพค. กับ UST เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญสูงในเทคนิคเฉพาะด้าน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) เทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear energy technology) เป็นต้น

ภายในงาน Dr. Seoghyeon RYU ตำแหน่ง Dean of Office of Cooperation กล่าวว่า UST ประกอบด้วยสถาบันด้านการวิจัยและพัฒนา จำนวน 32 สถาบัน ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ มีมูลค่าโครงการวิจัยทั้งหมดคิดเป็น 4.5 ล้านล้านวอน ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว มีนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนมาจากประเทศต่างๆ ทุกภูมิภาคของโลก โอกาสนี้จึงอยากจะสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยกับสถาบันวิจัยในประเทศไทย และยินดีที่ได้มามีส่วนร่วมในโครงการวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และนักศึกษาระหว่าง 2 ประเทศ

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง บพค. และ UST ฉบับนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานวิจัยและสถาบันอุดมศึกษาภายใต้ความร่วมมือธัชวิทย์นี้ได้สานความสัมพันธ์ สร้างความร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่ตอบโจทย์ที่สำคัญของประเทศได้ต่อไป