บพค. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า “โครงการวิจัยและพัฒนายกระดับการเขียนบทภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดโลกและกำลังคนที่เชี่ยวชาญระดับสากล โดยใช้รากเหง้าและอัตลักษณ์วัฒนธรรมล้านช้าง”

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. รองศาสตราจารย์ ดร.รินา ภัทรมานนท์ ประธานคณะประสานงาน Cluster บพค. ด้าน Frontier Research คุณจตุพรณ์ โชคภูเขียว ประธานคณะประสานงาน Cluster ด้าน SHA และ AI พร้อมด้วย คุณศิริศักดิ์ คชพัชรินทร์ นายกสมาคมแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกแห่งประเทศไทย สังกัดสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์ คุณสุธาทิพ ลาภสมทบ เจ้าหน้าที่วิชาการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน สังกัดกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และนักวิเคราะห์ บพค. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน“โครงการวิจัยและพัฒนายกระดับการเขียนบทภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดโลกและกำลังคนที่เชี่ยวชาญระดับสากล โดยใช้รากเหง้าและอัตลักษณ์วัฒนธรรมล้านช้าง” ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ อาจารย์ประจำคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก คุณปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ในการดำเนินกิจกรรมครั้งนี้

การดำเนินงานของโครงการวิจัยฯ มีการใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายในการพัฒนากำลังคน ทั้งกิจกรรมการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Mindset) ในการสร้างภาพยนตร์ การเรียนรู้ผ่านสื่อภาพยนตร์ (Learning by Cinemas) การนำเสนอบทภาพยนตร์ และกิจกรรมอื่น ๆ อันมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างบทภาพยนตร์ให้มีความแปลกใหม่น่าสนใจและมีคุณภาพรวมถึงการเรียนรู้รากเหง้า และอัตลักษณ์วัฒนธรรมล้านช้างเพื่อการสอดแทรกแต่งเติมในเนื้อหาของบทภาพยนตร์ ให้วัฒนธรรมไทยส่งออกสู่สากลโลก อันจะสร้างมูลค่าให้แก่การส่งออกศิลปวัฒนธรรมชาติ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากผู้กำกับแนวหน้าหลายท่าน ได้แก่ คุณธนิตย์ จิตนุกุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “บางระจัน” คุณราเชนทร์ ลิ้มตระกูล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “จีจ้า ดื้อสวยดุ” และคุณบัณฑิต ทองดี ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “พุ่มพวง” ร่วมในกิจกรรมการนำเสนอบทภาพยนตร์และช่วยปรับแนวทางของบทภาพยนตร์ของผู้ร่วมโครงการ

นอกจากนี้ โครงการวิจัยฯ จัดรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบ active classroom มีการใช้สื่อผสมผสาน นอกเหนือจากการบรรยายเพียงอย่างเดียว วิทยากรและผู้เข้าร่วมโครงการมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มีการยกตัวอย่างของภาพยนตร์พร้อมการวิเคราะห์บทภาพยนตร์เพื่อให้เข้าถึงความคิดของผู้เขียนบทซึ่งเป็นทักษะจำเป็นสำหรับพัฒนากำลังคนด้านเขียนบทภาพยนต์ให้มีความเชี่ยวชาญและพัฒนาบทภาพยนต์ไปสู่ตลาดโลกได้

บพค. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลผลิตของโครงการฯ ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างกำลังคนทักษะสูงด้านการเขียนบทภาพยนต์ สามารถสร้างบทภาพยนตร์ที่มีคุณภาพและสร้างแรงกระเพื่อมต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์อุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการส่งออกศิลปวัฒนธรรมชาติให้เจริญงอกงาม สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศและโอกาสแข่งขันให้แก่คนไทยในระดับสากล พร้อมสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นศักยภาพอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในอนาคต