บพค. สานพลังความร่วมมือ วว. และ มข. เร่งผลักดันการขับเคลื่อนธัชวิทย์ด้วยหลักสูตรใหม่ Bioscience and Bioinnovation for Sustainability

บพค. มุ่งผลักดันการสร้างนักวิจัยสมรรถนะสูงด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและชีวนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนผ่านแพลตฟอร์มธัชวิทย์ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. รองศาสตราจารย์ ดร.รินา ภัทรมานนท์ ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ บพค. สาขา Frontier Technology และคุณจตุรภรณ์ โชคภูเขียว ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ บพค. สาขา SHA และ AI/Coding พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ คณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักวิเคราะห์ บพค. เดินทางเข้าเยี่ยมชมสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จังหวัดปทุมธานี

ในการนี้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดเวทีการหารือแนวทางการทำงานร่วมกันในการสร้างและพัฒนากำลังคนศักยภาพสูงให้แก่ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่ทาง วว. ได้ดำเนินการมาแล้วอย่างยาวนาน จนนำไปสู่การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมจากการวิจัยที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมเกษตรได้ ที่ผ่านมาทาง วว. มีความร่วมมือกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมขั้นสูงที่ดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนได้จำนวนมาก ส่วนการพัฒนากำลังคนที่เป็นที่ต้องการของประเทศในการพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศก็จะต้องอาศัยความร่วมมือกับ บพค. ที่ได้นัดการหารือแนวทางการจัดทำโครงการวิจัยและนวัตกรรม 360 องศา ในครั้งนี้ อีกทั้งยังได้กล่าวแนะนำความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยที่ต้องการใช้เครื่องมือการวิจัย โครงสร้างพื้นฐานที่ วว. มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างงานวิจัยให้เกิดผลกระทบในวงกว้างให้ได้

ในภาคเช้า คณะผู้บริหาร บพค. พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ คณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักวิเคราะห์ บพค. ได้เข้าเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายจากนักวิจัยในห้องปฏิบัติการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมด้านต่างๆ ได้แก่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ (InnoFood) ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (InnoHerb) ศูนย์บริการนวัตกรรมเวชสำอางแบบครบวงจร (ICOS) ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิชาการ เทคนิคการวิจัย และการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแลกเปลี่ยนนักวิจัยและการใช้เครื่องมือการทดสอบ

ในภาคบ่าย คณะนักวิจัย วว. จากศูนย์เชี่ยวชาญต่างๆ ร่วมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นและผู้ทรงคุณวุฒิได้ร่วมกันระดมความเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเสนอแนะแนวทางในการสร้างความร่วมมือกันขับเคลื่อนโครงการจัดทำงานวิจัยและนวัตกรรมแบบ 360 องศา ผ่านโปรแกรมวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences, TAS) หรือ ธัชวิทย์ โดย บพค. เป็นหน่วยงานให้ทุนที่คอยเป็นตัวกลาง (Intermediary) ในการประสานความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน/อุตสาหกรรม รวมถึงสถาบันต่างประเทศ โดยการใช้ทรัพยากร เครื่องมือ และโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในเกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับกิจกรรมได้แบ่งกลุ่มระดมสมองออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตามอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
  2. กลุ่มการพัฒนาหัวข้อวิจัย Frontier BCG และความเป็นไปได้ในการ co-funding จาก บพค./วว. และ Europe เพื่อมุ่งสู่ P22 การยกระดับของประเทศ
  3. กลุ่มแนวทางการสร้าง Spinoff ของผลงานวิจัย (Research Utilization)

อันเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ยกระดับเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้เท่าทันโลกมากยิ่งขึ้นตั้งแต่การผลิตผลงานวิจัยขั้นแนวหน้า (ต้นน้ำ) การผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงตามความต้องการของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (กลางน้ำ) และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จนถึงเชิงพาณิชย์ (ปลายน้ำ)

ด้าน ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ได้กล่าวปิดท้าย ขอบคุณคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิจัย และผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ บพค. ในการหารือความร่วมมือการสร้างและผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงผ่านความร่วมมือธัชวิทย์ในครั้งนี้ และพร้อมที่จะร่วมมือผลักดันโครงการในวาระและโอกาสถัดไป โอกาสนี้ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัยและพนักงานได้ขึ้นเวทีถ่ายภาพร่วมกัน เพื่อเป็นเกียรติในการเริ่มผลักดันการสร้างความร่วมมือผ่านแพลตฟอร์มธัชวิทย์ให้ได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้