บพค. ผสานพลังเครือข่าย ยกระดับสถาบันด้าน ววน. หวังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเทียบเคียงนานาชาติ

บพค. จัดการประชุม Information Session แผนงานพัฒนาและยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศอย่างชัดเจน และสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องแมนดาริน ซี โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ

การจัดประชุม “Information Session แผนงานพัฒนาและยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศอย่างชัดเจน และสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงถึงกลยุทธ์และภาพรวมของการบริหารแผนงานภายใต้โปรแกรมที่ 22 พัฒนาและยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศอย่างชัดเจน และสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ และสร้างความเข้าใจถึงบริบทในการพัฒนาและยกระดับสถาบัน ววน. ให้ตอบโจทย์เป้าหมายและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้สูงขึ้น รวมถึงการชี้แจงแนวทางการยื่นข้อเสนอโครงการ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันด้าน ววน. ได้แก่ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนา กำลังคน และทุนด้านการพัฒนา สถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้กล่าวต้อนรับคณะผู้บริหารและผู้เข้าร่วมประชุมจากทั้ง 12 หน่วยงาน และ บพค. ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการบริหาร บพค. ในการเป็นวิทยากร บรรยายพิเศษในหัวข้อ “กลยุทธ์ในการยกระดับสถาบัน ววน. เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย” โดยกล่าวถึงการสะท้อนภาพจาก Global Innovation Index 2021 Rankings ซึ่งประเทศไทยควรมีการพัฒนาใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. Human capital and research 2. Business sophistication 3. Knowledge and technology outputs 4. Creative outputs เพื่อเพิ่ม Global Innovation Index และพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม รวมถึงการสะท้อนภาพจาก “โครงการขับเคลื่อนการยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศและสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ” ซึ่งมีการแบ่งกลุ่มสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ออกเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 องค์การเฉพาะทางสานสนเทศและองค์การส่งเสริมความรู้ทางวิทยาศาสตร์: สสน. สทอภ. อพวช. กลุ่มที่ 2 หน่วยงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครบวงร: วว. สวทช. Regional Science Park กลุ่มที่ 3 ห้องปฏิบัติการแห่งชาติและศูนย์วิจัยขนาดใหญ่: สดร. สทน. สซ. และกลุ่มที่ 4 MSTQ & หน่วยงานกำกับดูแล: ปส. มว. วศ. หลังจากนั้น ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของการขับเคลื่อนการยกระดับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศผ่านกลไกของคณะทำงานผู้แทนหน่วยงานด้านกลยุทธ์และพัฒนาองค์กร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการบพค. ได้นำเสนอแนวทางการสนับสนุนแผนงาน P22 แผนงานพัฒนาและยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้สามารถตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศและเทียบเคียงกับสถาบันในระดับนานาชาติ

ทั้งนี้ แผนงาน P 22 (S 4 ) พัฒนาและยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศอย่างชัดเจนและสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ มีเป้าหมายเพื่อให้สถาบัน/หน่วยงานภาครัฐที่มีพันธกิจด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะ ขีดความสามารถ และมีศักยภาพในการสร้างหรือส่งเสริมการขับเคลื่อนนวัตกรรมที่ท้าทาย ตอบโจทย์ภาคเศรษฐกิจและสังคม โดยมีการจัดวางเป้าหมายและทิศทางการทางานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน