บพค. พบประชาคมวิจัย มหาวิทยาลัยพะเยา หารือบทบาทของหลักสูตรในมหาวิทยาลัยพะเยา ภายใต้ความร่วมมือ “ธัชวิทย์”

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิ บพค. และ ดร.ศุภฤกษ์ บุพศิริ นักวิเคราะห์อาวุโส บพค. พบผู้บริหารและประชาคมนักวิจัย มหาวิทยาลัยพะเยา นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ศาสตราจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยผู้บริหาร และบุคลากรกองบริหารงานวิจัย ให้การต้อนรับ

ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ได้ให้เกียรติบรรยายพิเศษเรื่อง “การดำเนินงานด้าน “ธัชวิทย์”” และการเปิดรับข้อเสนอโครงการ บพค. ประจำปี 2567 โดยได้กล่าวถึงกรอบการดำเนินงานการพัฒนากำลังคนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Smart Nation (Smart Creative Smart Innovation Smart Citizen ) ที่ปัจจุบัน บพค. หรือ PMU B จัดสรรทุนด้านการพัฒนากำลังคนในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศตามนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม ระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุคเพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต (Coding/AI Cloud/Robotic/Big Data/IOT/Digital/Infrastructure) และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (National Platform for Human Resources for Future) และนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ ยังมีการบรรยาย “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ Thailand Academy of Sciences ; TAS ที่เป็นการขับเคลื่อน 3 แพลตฟอร์มเพื่อเป็นฐานการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ได้แก่

  1. Frontline Think Tank : คลังคิดนักวิทย์ เพื่อเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาประเด็นสำคัญของประเทศ
  2. Frontier Science Alliances : งานวิจัยขั้นแนวหน้า เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ
  3. Future Graduates Platform : บัณฑิตนักวิทย์ศักยภาพสูง เพื่อสร้างกำลังคนในการพัฒนาประเทศ

โดยมีมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) หน่วยวิชาการของประเทศ และภาคอุตสาหกรรม (การผลิตและบริการ) เป็นหน่วยขับเคลื่อนการดำเนินงาน

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ได้หารือบทบาทของหลักสูตรในมหาวิทยาลัยพะเยา ภายใต้ความร่วมมือ “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และแนวทางความร่วมมือ (MoU) ระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยากับ บพค. ร่วมกับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา และผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพื่อผลักดันให้เกิดต้นแบบหลักสูตรการพัฒนากำลังคนต่อไป