บพค. ลงพื้นที่ติดตามโครงการและเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ ทางด้านเทคโนโลยีควอนตัม ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อเร็ว ๆ นี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ศาสตราจารย์ ดร.สําเริง จักรใจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทยา อมรกิจบำรุง และ ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ บพค. ลงพื้นที่ติดตามรายงานความก้าวหน้าโครงการ ภายใต้โปรแกรมที่ 5 ส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้าและการวิจัยพื้นฐานที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ประจำปีงบประมาณ 2565ห้องประชุม 1 ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชา วัชระภาสร และ รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา พร้อมทีมนักวิจัย ให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชา วัชระภาสร หัวหน้าชุดโครงการวิจัยนำร่องสำหรับศูนย์กลางเซ็นเซอร์ควอนตัม และ รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา หัวหน้าชุดโครงการการสร้างและเสริมแกร่งระบบนิเวศแบบบูรณาการสำหรับการวิจัยทางเทคโนโลยีควอนตัมระดับประเทศ ได้นำเสนอที่มาของชุดโครงการ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ผลผลิตของชุดโครงการ ครุภัณฑ์ และต้นแบบเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ได้พัฒนาขึ้นจากชุดโครงการวิจัย ตลอดจนความเชื่อมโยงกับ Quantum Technology Roadmap ของประเทศ โดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิและ บพค. รวมทั้งทีมนักวิจัย ได้ร่วมหารือถึงความก้าวหน้าของโครงการวิจัย การบริหารจัดการ ปัญหาและอุปสรรค เพื่อหาแนวทางในการพัฒนางานวิจัยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดครบ Value Chain ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พร้อมทั้งได้รับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ ไปต่อยอดงานวิจัยให้สามารถสร้างผลลัพธ์ ผลกระทบแก่สังคมและประเทศให้ได้มากที่สุด

จากนั้น คณะฯ ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการโครงการ Quantum Flagship ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่

  1. ห้องปฏิบัติการ Quantum Designed Perovskite Materials for Photodetector
  2. ห้องปฏิบัติการ Quantum Dots for Optoelectronic Applications
  3. ห้องปฏิบัติการ Rydberg atom quantum simulation

ต่อมาได้เดินทางไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ Silicon photonic devices based on resonating ring structure for biological analyte detection ณ สถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ และภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในวันเดียวกันนี้ คณะฯ ได้เดินทางไปยังสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังการนำเสนอกิจกรรมและความก้าวหน้า “โครงการการพัฒนาสร้างดาวเทียม pathfinder (TSC-0) และดาวเทียมถ่ายภาพหลายความยาวคลื่น (TSC-1)” ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ โดยสถานะโครงการขณะนี้มีความก้าวหน้าอย่างมากจากฐานความรู้เดิมและการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยร่วมกับภาคีเครือข่ายระดับโลก ปัจจุบันโครงการประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุปกรณ์ที่เป็นองค์ประกอบของ TSC satellite เช่น การออกแบบ payload และ ระบบ Attitude Determination and Control การออกแบบ TSC-Pathfinder จาก CIOMP เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างต้นแบบดาวเทียมวิจัยขนาดเล็ก ในการนี้ ทีมผู้วิจัยนำโดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ สดร. และ ดร.วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการ สดร. พร้อมทีมนักวิจัย ยังได้นำคณะฯ เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการด้านการพัฒนา TSC-Pathfinder Payload development และห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของ TSC satellite

วันต่อมา คณะฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการ โปรแกรมที่ 16 การปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2564ห้องประชุมศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ อาคาร 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการ และทีมนักวิจัย ได้นำเสนอความก้าวหน้า พร้อมสรุปภาพรวม “โครงการและผลการดำเนินงานโครงการเครือข่ายขั้นแนวหน้าระดับโลกเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยด้านวัสดุศาสตร์” ภายใต้โครงการได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ตลอดจนพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูงทางด้านวัสดุศาสตร์ พร้อมกันนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิได้ร่วมให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานโครงการ และการต่อยอดการทำงานในอนาคตให้เกิดความยั่งยืนทั้งเครือข่ายและการพัฒนาเทคโนโลยี

คณะฯ ยังได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการโครงการศูนย์ความเป็นเลิศ Excellence Center CMU เพื่อชมผลผลิตและโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนโดย บพค. อาทิ นวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ เทคโนโลยีไหมเย็บแผลเส้นเดี่ยวละลายได้ที่ใช้สำหรับทางการแพทย์ วัสดุและสิ่งทอจากวัตถุเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นต้น ซึ่งเป็นผลผลิตที่สามารถสร้างผลลัพธ์ และผลกระทบ ทั้งวงการวิชาการ การแพทย์ และภาคประชาสังคม

ช่วงบ่าย คณะฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามรายงานความก้าวหน้าโครงการ โปรแกรมที่ 5 ส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้าและการวิจัยพื้นฐานที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ประจำปีงบประมาณ 2565ห้องประชุมห้องปฏิบัติการวิจัยเครื่องเร่งอิเล็กตรอนเชิงเส้น อาคารไอออนบีม 2 ศูนย์วิจัยฟิสิกส์ของพลาสมาและลำอนุภาค ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ริมแจ่ม ในฐานะหัวหน้าโครงการ และทีมนักวิจัย ได้นำเสนอความก้าวหน้าโครงการพร้อมสรุปภาพรวมโครงการและผลการดำเนินงาน “โครงการห้องปฏิบัติการเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระย่านอินฟราเรดและเทร่าเฮิรตซ์ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศวิจัยระดับแนวหน้าในประเทศไทย” โดยทาง บพค. ผู้ทรงคุณวุฒิ และทีมนักวิจัย ได้ร่วมหารือถึงความก้าวหน้าของโครงการวิจัย การบริหารจัดการ ปัญหาและอุปสรรค เพื่อหาแนวทางในการพัฒนางานวิจัยร่วมกัน

นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้เยี่ยมชมห้องประชุมห้องปฏิบัติการวิจัยเครื่องเร่งอิเล็กตรอนเชิงเส้น ซึ่งเป็นเครื่องเร่งอิเล็กตรอนพลังงานสูง โดยเครื่องนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน โดย บพค. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน เพื่อเป็นการพัฒนากำลังคนที่สำคัญเป็น Brainpower ของประเทศ เครื่องเร่งอนุภาคนี้สามารถต่อยอดการศึกษาวิจัยและการประยุกต์ทางด้านวิทยาศาสตร์ขั้นสูง หรือนำไปใช้ศึกษาระบบที่ซับซ้อนต่าง ๆ โดยเครื่องนี้ได้ออกแบบและพัฒนาโดยนักวิจัยและนักศึกษาในโครงการวิจัย มีการประกอบสร้างขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีการสร้างชิ้นส่วนเครื่องเร่งอนุภาคแห่งแรกๆ ของประเทศไทย