เมื่อเร็ว ๆ นี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ศาสตราจารย์ ดร.สําเริง จักรใจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทยา อมรกิจบำรุง และ ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ บพค. ลงพื้นที่ติดตามรายงานความก้าวหน้าโครงการ ภายใต้โปรแกรมที่ 5 ส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้าและการวิจัยพื้นฐานที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ประจำปีงบประมาณ 2565 ณ ห้องประชุม 1 ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชา วัชระภาสร และ รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา พร้อมทีมนักวิจัย ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชา วัชระภาสร หัวหน้าชุดโครงการวิจัยนำร่องสำหรับศูนย์กลางเซ็นเซอร์ควอนตัม และ รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา หัวหน้าชุดโครงการการสร้างและเสริมแกร่งระบบนิเวศแบบบูรณาการสำหรับการวิจัยทางเทคโนโลยีควอนตัมระดับประเทศ ได้นำเสนอที่มาของชุดโครงการ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ผลผลิตของชุดโครงการ ครุภัณฑ์ และต้นแบบเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ได้พัฒนาขึ้นจากชุดโครงการวิจัย ตลอดจนความเชื่อมโยงกับ Quantum Technology Roadmap ของประเทศ โดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิและ บพค. รวมทั้งทีมนักวิจัย ได้ร่วมหารือถึงความก้าวหน้าของโครงการวิจัย การบริหารจัดการ ปัญหาและอุปสรรค เพื่อหาแนวทางในการพัฒนางานวิจัยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดครบ Value Chain ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พร้อมทั้งได้รับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ ไปต่อยอดงานวิจัยให้สามารถสร้างผลลัพธ์ ผลกระทบแก่สังคมและประเทศให้ได้มากที่สุด
จากนั้น คณะฯ ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการโครงการ Quantum Flagship ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่
ต่อมาได้เดินทางไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ Silicon photonic devices based on resonating ring structure for biological analyte detection ณ สถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ และภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในวันเดียวกันนี้ คณะฯ ได้เดินทางไปยังสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังการนำเสนอกิจกรรมและความก้าวหน้า “โครงการการพัฒนาสร้างดาวเทียม pathfinder (TSC-0) และดาวเทียมถ่ายภาพหลายความยาวคลื่น (TSC-1)” ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ โดยสถานะโครงการขณะนี้มีความก้าวหน้าอย่างมากจากฐานความรู้เดิมและการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยร่วมกับภาคีเครือข่ายระดับโลก ปัจจุบันโครงการประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุปกรณ์ที่เป็นองค์ประกอบของ TSC satellite เช่น การออกแบบ payload และ ระบบ Attitude Determination and Control การออกแบบ TSC-Pathfinder จาก CIOMP เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างต้นแบบดาวเทียมวิจัยขนาดเล็ก ในการนี้ ทีมผู้วิจัยนำโดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ สดร. และ ดร.วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการ สดร. พร้อมทีมนักวิจัย ยังได้นำคณะฯ เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการด้านการพัฒนา TSC-Pathfinder Payload development และห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของ TSC satellite
วันต่อมา คณะฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการ โปรแกรมที่ 16 การปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2564 ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ อาคาร 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการ และทีมนักวิจัย ได้นำเสนอความก้าวหน้า พร้อมสรุปภาพรวม “โครงการและผลการดำเนินงานโครงการเครือข่ายขั้นแนวหน้าระดับโลกเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยด้านวัสดุศาสตร์” ภายใต้โครงการได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ตลอดจนพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูงทางด้านวัสดุศาสตร์ พร้อมกันนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิได้ร่วมให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานโครงการ และการต่อยอดการทำงานในอนาคตให้เกิดความยั่งยืนทั้งเครือข่ายและการพัฒนาเทคโนโลยี
คณะฯ ยังได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการโครงการศูนย์ความเป็นเลิศ Excellence Center CMU เพื่อชมผลผลิตและโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนโดย บพค. อาทิ นวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ เทคโนโลยีไหมเย็บแผลเส้นเดี่ยวละลายได้ที่ใช้สำหรับทางการแพทย์ วัสดุและสิ่งทอจากวัตถุเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นต้น ซึ่งเป็นผลผลิตที่สามารถสร้างผลลัพธ์ และผลกระทบ ทั้งวงการวิชาการ การแพทย์ และภาคประชาสังคม
ช่วงบ่าย คณะฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามรายงานความก้าวหน้าโครงการ โปรแกรมที่ 5 ส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้าและการวิจัยพื้นฐานที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ประจำปีงบประมาณ 2565 ณ ห้องประชุมห้องปฏิบัติการวิจัยเครื่องเร่งอิเล็กตรอนเชิงเส้น อาคารไอออนบีม 2 ศูนย์วิจัยฟิสิกส์ของพลาสมาและลำอนุภาค ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ริมแจ่ม ในฐานะหัวหน้าโครงการ และทีมนักวิจัย ได้นำเสนอความก้าวหน้าโครงการพร้อมสรุปภาพรวมโครงการและผลการดำเนินงาน “โครงการห้องปฏิบัติการเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระย่านอินฟราเรดและเทร่าเฮิรตซ์ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศวิจัยระดับแนวหน้าในประเทศไทย” โดยทาง บพค. ผู้ทรงคุณวุฒิ และทีมนักวิจัย ได้ร่วมหารือถึงความก้าวหน้าของโครงการวิจัย การบริหารจัดการ ปัญหาและอุปสรรค เพื่อหาแนวทางในการพัฒนางานวิจัยร่วมกัน
นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้เยี่ยมชมห้องประชุมห้องปฏิบัติการวิจัยเครื่องเร่งอิเล็กตรอนเชิงเส้น ซึ่งเป็นเครื่องเร่งอิเล็กตรอนพลังงานสูง โดยเครื่องนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน โดย บพค. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน เพื่อเป็นการพัฒนากำลังคนที่สำคัญเป็น Brainpower ของประเทศ เครื่องเร่งอนุภาคนี้สามารถต่อยอดการศึกษาวิจัยและการประยุกต์ทางด้านวิทยาศาสตร์ขั้นสูง หรือนำไปใช้ศึกษาระบบที่ซับซ้อนต่าง ๆ โดยเครื่องนี้ได้ออกแบบและพัฒนาโดยนักวิจัยและนักศึกษาในโครงการวิจัย มีการประกอบสร้างขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีการสร้างชิ้นส่วนเครื่องเร่งอนุภาคแห่งแรกๆ ของประเทศไทย