เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. ศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ (กรรมการบริหาร บพค.) รศ.ดร.บัณฑิต ทิพากร (กรรมการบริหาร บพค.) ผู้บริหารจาก บพค. ผศ.ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ และ ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ และเจ้าหน้าที่ บพค. ให้การต้อนรับ ดร.เศรษฐพรรค์ กระจ่างวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลล์ (ปว.บซ) และตัวแทนจากมหาวิทยาลัยของประเทศในทวีปยุโรป แถบ Baltic Plus ประกอบไปด้วย Prof. Edita Suziedeliene, Vice-Rector and Pro-Rector for Research จาก Vilnius University สาธารณรัฐลิทัวเนีย Prof. Igors Tipans, Deputy Rector จาก Riga Technical University สาธารณรัฐลัตเวีย Mr.Archil Chochia, Senior Researcher (Department of Law, School of Business and Governance) จาก Tallinn University of Technology สาธารณรัฐเอสโตเนีย และ Mr.Halldor Jonsson, Director of the Division of Science and Innovation จาก University of Iceland สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้น ณ ห้องชุมวิมานทอง ชั้น 4 โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ บพค. ได้จัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยดังกล่าว ในโอกาสที่ได้มาเยือนประเทศไทย ภายใต้โครงการ The Baltic Plus Connect โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยของประเทศในทวีปยุโรปตัวเลือกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพสูงที่ยังไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศไทย จากการประชุมในครั้งนี้ทำให้เห็นถึงศักยภาพในหลากหลายสาขาของแต่ละมหาวิทยาลัยในทวีปยุโรป เช่น การสร้างความร่วมมือด้านดิจิทัล และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Digital & AI Technology) ภายใต้ความเชี่ยวชาญของ Tallinn University of Technology (สาธารณรัฐเอสโตเนีย) การสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Development) ทางด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงานทดแทน (Renewable Energy) กับ University of Iceland การสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า อาทิ Laser Physics and Light Technology และ Genomics Biomolecules and Biotechnologies กับ Vilnius University สาธารณรัฐลิทัวเนีย และ งานด้าน Informatics and Communication Technologies และด้านอื่น ๆ จาก Riga Technical University สาธารณรัฐลัตเวีย
นอกจากนี้ บพค. ยังมีแผนในการขยายความร่วมมือด้านอื่นๆ เช่นด้านการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง เพื่อสร้างเสริมทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อโลกในยุคปัจจุบัน และเป็นการเคลื่อนย้ายบุคลากรจากต่างประเทศมาช่วยเสริมสร้างในการพัฒนาประเทศ ซึ่งการขับเคลื่อนของอัครราชทูต ปว.บซ. จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดความยั่งยืนและต่อเนื่องในการสร้างความร่วมมือร่วมกันในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการวิจัยเพื่อการพัฒนากำลังคนและงานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) ในอนาคตต่อไป