บพค. เข้าเยี่ยมชมศูนย์บริหารเครือข่ายการปฏิบัติการจราจรทางอากาศ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด หวังสร้างคนด้านการจัดการจราจรทางอากาศโดยใช้นวัตกรรมการบินอัจฉริยะ

วันนี้ (28 มิถุนายน 2567) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. พร้อมคณะนักวิเคราะห์และเจ้าหน้าที่ บพค. เข้าเยี่ยมชมกิจการของศูนย์บริหารเครือข่ายการปฏิบัติการจราจรทางอากาศ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ณ อาคาร 60 ปี สำนักงานใหญ่ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด พร้อมคณะผู้บริหารและพนักงานให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

โอกาสนี้ ดร.ณพศิษฏ์ฯ กล่าวว่า ภารกิจของ บวท. มุ่งเน้นการจัดการควบคุมอากาศยานโดยใช้เทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูงสุด ครอบคลุมอากาศยานเชิงพาณิชย์ อากาศยานด้านการขนส่งและความมั่นคง ตลอดจนการควบคุมอากาศยานระยะไกลหรือการใช้โดรน ในระยะหลังมานี้ การเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงานต้องยกระดับการควบคุมอากาศยานให้เท่าทันต่อความต้องการของสายการบิน ปัจจุบันนี้ ทาง บวท. ต้องการเพิ่มปริมาณความจุ (Capacity) ให้รองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานเขตกรุงเทพ (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา) ให้สามารถจัดการกับเที่ยวบินปริมาณมาก ๆ ให้ได้ตามความมุ่งหมายของภาครัฐที่ต้องการให้เกิดการจัดการแบบรวมศูนย์ (Bangkok Area Control Centre, BACC) เพื่อยกระดับการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารจากเดิม 45 ล้านคนต่อปีให้ได้มากถึง 60-70 ล้านคนต่อปี โดย บวท. ได้กำหนดเป้าหมายในการสร้างกำลังคนด้านการจัดการจราจรทางอากาศให้รองรับการเติบโตของธุรกิจด้านการบินมากถึง 30,000 คน ซึ่งจากการสร้างความร่วมมือผ่านการลงนาม MOU ของการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมด้านการบิน (NGAP – Digital transformation)ให้ตอบสนองต่อความต้องการในอุตสาหกรรมด้านการบินของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน 7 แห่งไปแล้วเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 นั้น จะสามารถขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาบุคลากรและสร้างเทคโนโลยีการจัดการทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด

ในการนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมปองฯ ได้กล่าวให้ความเห็นว่า การยกระดับมาตรฐานการใช้เทคโนโลยีแห่งอนาคตเข้ามาช่วยในการทำงานด้านการควบคุมการจราจรทางอากาศ นับว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนานวัตกรรมให้แก่ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) อินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (Internet of Things, IoTs) เทคโนโลยี Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) ที่สามารถเข้ามามีบทบาทในการลดโอกาสความผิดพลาด และเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งนี้ บพค. เป็นหน่วยงานด้านการบริหารและจัดการทุนในประเด็นการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ตลอดจนการสนับสนุนโครงการวิจัยขั้นแนวหน้าตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญให้กับประเทศไทยเป็นแกนนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภูมิภาคต่อไป

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน
และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา
การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

Program Management Unit for Human Resources & Institutional
Development,Research and Innovation (PMU-B)

319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน
เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
02-109-5432 ต่อ 841
[email protected]

ช่องทางการติดต่อสารบรรณของหน่วยงาน :
[email protected]

      ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่