บพค. มุ่งยกระดับนักวิจัยไทยสู่ภาคีเครือข่ายระดับนานาชาติ ขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม ผลักดันประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วย ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ ผู้ทรงคุณวุฒิ บพค. และทีมนักวิเคราะห์ บพค. เข้าร่วมการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ CaRe Network Symposium 2024 “Renewable Energy for Sustainable Development Goals” ณ โรงแรม Amari พัทยา จังหวัดชลบุรี โดยการประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้โครงการ “การยกระดับนักวิจัยไทยเพื่อเป็นแกนนำในภาคีเครือข่ายสหสาขาระดับนานาชาติเพื่อการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ลดการใช้คาร์บอน” ที่ บพค. ให้การสนับสนุนทุนวิจัย ภายใต้แผนงาน N39 (S3P19) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยได้เป็นแกนนำหลักในภาคีสำคัญของโลกด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่ออนาคต ประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลงานของนักวิจัยและแพลตฟอร์มการยกระดับนักวิจัยไทยเพื่อเป็นแกนนำในภาคีเครือข่ายสหสาขาระดับนานาชาติเพื่อการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ลดการใช้คาร์บอน
ในการนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมปองฯ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “นโยบายการยกระดับนักวิจัยไทยเพื่อเป็นแกนนำในภาคีเครือข่ายระดับนานาชาติ” โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ การเล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนให้นักวิจัยไทยมีบทบาทเป็นแกนนำหลักในภาคีสำคัญของโลก เพื่อสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยระดับนานาชาติ เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ทรัพยากร และเทคโนโลยีในการสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทั้งทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมของประเทศไทย และรองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีพิธีเปิดงานประชุมวิชาการ CaRe Network Symposium 2024 และชมลงานของนักวิจัยระดับ L1 – L4 ซึ่งเป็นผู้ร่วมในโครงการฯ

นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ ผู้ทรงคุณวุฒิ บพค. เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “มุมมองการพัฒนากำลังคนของประเทศกับอนาคตของอุตสาหกรรมไทย “Carbon neutrality” โดยภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าประสงค์จะผลักดันให้ประเทศไทยมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาไปด้วยกัน คือ การพัฒนากำลังคนทักษะสูงและการสร้างงานวิจัยขั้นแนวหน้ารวมถึงการสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐาน โดยมุ่งไปที่การทำงานผ่านการสร้างฐานความร่วมมือที่เข้มแข็งและมุ่งเป้า ระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษา ที่มีพันธกิจร่วมในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCUS เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย