บพค.-สอวช. หารืออนาคตเทคโนโลยีและนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ มุ่งพัฒนาทักษะบุคลากรไทยรองรับตลาดแรงงานดิจิทัล

วันนี้ (13 มีนาคม 2567) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการ สอวช. พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. รองศาสตราจารย์ ดร.รินา ภัทรมานนท์ ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ด้าน Frontier Research บพค. อาจารย์จตุรภรณ์ โชคภูเขียว ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ด้าน SHA รวมทั้งคณะทำงานจาก บพค. และ สอวช. ให้การต้อนรับ Mr. Rodrigo Balbontin จาก The Asia Foundation เข้าร่วมการประชุมพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับ “Thai Developers Survey” เพื่อทราบถึงภาพรวมของตลาดแรงงานในสายงานโปรแกรมเมอร์หรือผู้ที่มีทักษะทางดิจิทัลในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร เพื่อนำมาหาแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Mr. Rodrigo Balbontin ได้นำเสนองานวิจัย “Thai Developers Survey” ซึ่งจัดทำโดย The Asia Foundation ร่วมกับสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย (Thai Developers Association) ที่ได้สำรวจข้อมูลภาพรวมของตลาดแรงงานด้านดิจิทัล พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางในการยกระดับทักษะของบุคลากรกลุ่มนี้ โดยผลการสำรวจรวบรวมข้อมูลจากนักเขียนโปรแกรมและนักออกแบบทั่วประเทศไทยกว่า 1,800 คน ครอบคลุมข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ ทักษะดิจิทัลที่เป็นที่ต้องการ และสภาพแวดล้อมของตลาดแรงงาน (เช่น รายได้ การทำงานที่บ้าน และบริษัทที่เปิดรับสมัครนักเขียนโปรแกรม) อีกทั้งในงานวิจัยยังวิเคราะห์ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย เช่น ปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดการพัฒนาทักษะและการเป็นผู้ประกอบการ ความเหลื่อมล้ำทางเพศในตลาดแรงงาน และความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดอีกด้วย

นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มีการหารือกันถึงอนาคตของเทคโนโลยีและนโยบายวิทยาศาสตร์ โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างศักยภาพของบุคลากร การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการต่างๆ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่ขีดขวางความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจคือความเหลื่อมล้ำทางเพศในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยได้ชี้ให้เห็นว่ามีผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในสายงานเทคโนโลยีเพียง 16.7% จากผลสำรวจ รวมทั้งยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของทักษะภาษาอังกฤษสำหรับนักเขียนโปรแกรม ปัจจัยทางวัฒนธรรม และความแตกต่างระหว่างวัยที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางเพศ ตลอดจนชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ซึ่งผู้หญิงในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายโดยเฉลี่ย

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สมปองฯ ได้เน้นย้ำถึงการกำหนดนโยบายด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้กับคนไทยซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่มาพร้อมกับงานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน และเพื่อให้คนไทยสามารถก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกรวมถึงการรับมือกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตอีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้า