บพค. ร่วมกับเครือข่ายเร่งพัฒนากำลังคนด้วยองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า มุ่งเตรียมพร้อมการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมอาหารในประเทศ

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ผศ.ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. และเจ้าหน้าที่ บพค. เข้าร่วมการประชุมปฏิบัติการเรื่อง BCG Frontier Research Forum “อาหารแห่งอนาคตที่ยั่งยืน Sustainable Food of the Future” ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้และวิจัยเฉลิมพระเกียรติฯ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะผู้ประสานงานคลัสเตอร์การพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า BCG เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารหรือภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และบริการด้านอาหาร มาร่วมระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการพัฒนาอาหารอนาคต เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารในประเทศ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนากำลังคนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตของอุตสาหกรรมอาหารที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ได้กล่าวเปิดงานฯ พร้อมชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการประชุม โดย บพค. พยายามสนับสนุนให้ประเทศไทยมีการวิจัยและพัฒนาอาหารแห่งอนาคต สร้างโอกาสให้กับประเทศไทยเพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านอาหารของโลก ผ่านการสนับสนุนงานวิจัยขั้นแนวหน้าตามยุทธศาสตร์ BCG ในด้าน Future Food เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้อุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยเกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่องยั่งยืน โดยในงานประชุมมีการบรรยายพิเศษเพื่อให้ข้อมูล แนวคิดและมุมมองในด้านการพัฒนา Future Food ของประเทศไทย มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารอนาคต 4 ท่าน ดังนี้
  1. คุณเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้กล่าวในหัวข้อ “Opportunities and Market Analyses of Future Food Industries” ว่า ตลาดอาหารอนาคตมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าทางการตลาดโลกมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านเหรียญ
  2. คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วีฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวในหัวข้อ “The Future of Plant-based Foods: Perspectives from Private sectors” ว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปโดยสนใจอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาหารอนาคตจึงต้องพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป
  3. ผศ.น.สพ. ดร.เจนภพ สว่างเมฆ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัย VSCBIC คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไบโอ อิงค์ จำกัด ได้กล่าวในหัวข้อ “Cultured Meat Research: Lessons Learned” ว่า การผลิต cultured meat มีต้นทุนด้านเทคโนโลยีสูง แต่สามารถขยายขนาดการผลิตได้ง่าย ซึ่งจะทำให้ราคาถูกลงจนผู้บริโภคทั่วไปสามารถซื้อได้
  4. ดร.วเรศ จันทร์เจริญ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้กล่าวในหัวข้อ “Space Food Technology: A New Frontier for Food and Biotechnology Industries” ว่า ทีม KEETA ได้เข้าร่วมโครงการ “Deep Space Food Challenge” ของ NASA ในการพัฒนาอาหารแห่งอนาคตสำหรับนักบินอวกาศเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานเป็นเวลายาวนานในอวกาศได้
งานประชุมยังมีการประชุมกลุ่ม Stakeholder engagement workshop ในหัวข้อ “Future Food Ecosystem for Sustainable Development” ร่วมกับ ศ.ดร.เทวัญ จันทร์วิไลศรี ผศ.ดร.กิติพงษ์ รัตนาภรณ์ ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ และ ศ.ดร.นพ.ฉัตรชัย เหมือนประสาท เพื่อระดมความคิดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาอาหารอนาคตในประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืนและมั่นคงทางอาหารของประเทศ และ กำลังคนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาหารอนาคต เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อกำหนดมาตรฐานของอาหารอนาคต และ ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องมือในการผลิต
.
นอกจากนี้ ศ.ดร.นพ.ฉัตรชัย เหมือนประสาท ประธานคณะผู้ประสานงานคลัสเตอร์การพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า BCG ได้นำ คณะบพค. คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีทางการแพทย์ ของศูนย์วิจัยสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เพื่อชมอุปกรณ์เครื่องมือการวิจัย โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย และห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นนิเวศวิจัยที่สามารถรองรับการดำเนินงานวิจัยขั้นแนวหน้าเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย