หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมกับทีมวิจัยโครงการ “ศึกษารูปแบบและแนวทางการพัฒนากำลังคน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก บพค. พร้อมด้วยกรรมการกำกับโครงการ และผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม เดินทางเยือนหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับด้าน Climate Change ทั้งภาครัฐและเอกชน ของไต้หวัน อาทิ Taiwan Carbon Solution Exchange (TCX) และ Climate Change Administration Ministry of Environment (CCA) บริษัท YC Holding Co., Ltd รวมทั้งมหาวิทยาลัย National Chung Hsing University (NCHU) ณ ไต้หวัน ระหว่างวันที่ 13 – 14 พฤศจิกายน 2566 เพื่อศึกษากลไกความสำเร็จด้านนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไต้หวัน มาปรับใช้ในการจัดทำข้อเสนอแนะ แนวทางและมาตรการ ในการพัฒนากำลังคนและงานวิจัยที่สนับสนุนความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในประเทศไทย นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล ประธานผู้ประสานคลัสเตอร์ด้าน Net Zero บพค. พร้อมด้วยกรรมการกำกับโครงการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมศิลป์ วังยาว บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และผู้บริหารจากหน่วยงานชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ คุณรัฐ เรืองโชติวิทย์ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยการลดก๊าซเรือนกระจก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (DCCE) คุณภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ดร.ชัญชนา ธนชยานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.บัญชา ธนปิยะวานิช ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประเทศไทยบริษัท Tai & Chyun Associates Industries Inc. ดร.เอกพร นวภานันท์ นักวิจัยจากหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (3E CMU) และนักวิเคราะห์อาวุโส บพค.
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 คณะได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมหน่วยงานด้านนโยบาย Climate Change ของไต้หวัน จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ Taiwan Carbon Solution Exchange (TCX) โดยมี Mr. Joshua Tien ผู้บริหารหน่วยงาน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ และ Climate Change Administration Ministry of Environment (CCA) โดยมี Ms. Meng-Yun Kuo รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการการปล่อยมลพิษ และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ โอกาสนี้ ผู้บริหารหน่วยงาน TCX และ CCA กล่าวสรุปภาพรวมกลไกการประสบผลสำเร็จด้านนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไต้หวัน ไว้ดังนี้ ในปี 2564 ไต้หวันได้ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือเรียกว่า “2050 Net-Zero Transition” มีการดำเนินนโยบายในรูปแบบ Whole-of-Society Approach ด้วยนโยบายที่เป็นรูปธรรมและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมีภาคเอกชนที่ขานรับนโยบายอย่างแข็งขัน ล่าสุดไต้หวันได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับนโยบาย ที่เรียกว่า “Climate Change Response Act” ซึ่งได้ผ่านสภานิติบัญญัติไต้หวันแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ นโยบาย 2050 Net-Zero Transition มุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการเปลี่ยนวิถีชีวิตของประชาชน กระบวนการผลิต และการใช้ทรัพยากรของภาคเอกชนใน 4 กลยุทธ์ คือ พลังงาน (Energy transition) อุตสาหกรรม (Industrial transition) วิถีชีวิต (Lifestyle transition) และสังคม (Social transition) โดยใช้ 12 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. พลังงานลมและแสงอาทิตย์ (Wind/ Solar PV) 2. พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen) 3. นวัตกรรมพลังงานทางเลือก (Innovative Energy) 4. ระบบการบริหารจัดการและกักเก็บพลังงาน (Power Systems & Energy Storage) 5. การประหยัดพลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพ (Energy Saving & Efficiency) 6. เทคโนโลยี Carbon Capture Utilization & Storage (CCUS) 7. การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Carbon-Free & Electric Vehicles) 8. การรีไซเคิลและ Zero Waste (Resource Recycling & Zero Waste) 9. การพัฒนาแหล่งธรรมชาติเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Sinks) 10. ไลฟ์สไตล์สีเขียว (Green Lifestyle) 11. ระบบการเงินสีเขียว (Green Finance) และ 12. ระบบการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition)
ต่อมา เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 คณะได้เดินทางเข้าเยี่ยมชม บริษัท YC Holding Co., Ltd เป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่ให้คำปรึกษาและบริการเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด โดยมี Ms. Dora Yen (COO) กรรมการผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการ และ Mr. Robert Shih (GM) ผู้จัดการทั่วไป พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ ในการนี้ คณะเดินทางได้หารือแลกเปลี่ยนในประเด็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Market and Trading Platform) โดยบริษัท YC Holding Co., Ltd ได้พัฒนาแพลตฟอร์มการลดคาร์บอนแบบครบวงจร ในชื่อ APNex (A Sustainable Planet for Next Generation) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มชั้นนำระดับโลกโดยใช้เทคโนโลยี AI algorithm และฐานข้อมูล เพื่อช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด พร้อมกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายระดับโลกในการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 จากนั้น ช่วงบ่ายวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 คณะได้เดินทางเข้าเยี่ยมชม มหาวิทยาลัย National Chung Hsing University (NCHU) โดยมี Dr. Ming-Der Yang คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ และคณะให้การต้อนรับ โดยได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยน ในประเด็นแนวทางการพัฒนากำลังคนด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจกในมหาวิทยาลัย NCHU เพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
จากการเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ กระชับความสัมพันธ์ กับหน่วยงานด้าน Climate Change ระหว่างประเทศของไต้หวัน อีกทั้งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบและแนวทางปฏิบัติที่ดีในการพัฒนากำลังคนและนโยบายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากความสำเร็จของไต้หวัน เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำข้อเสนอแนะ แนวทางและมาตรการ การพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศและงานวิจัยที่สนับสนุนความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยต่อไป