เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยนักวิเคราะห์อาวุโส ร่วมกิจกรรมปาฐกถาพิเศษโดยผู้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ และเดินทางลงพื้นที่ในการติดตามผลการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิด กิจกรรมการปาฐกถาพิเศษโดยผู้รับรางวัลโนเบล (Keynote Speech by Nobel Laureates) ภายใต้การดำเนินงานของ Japan-ASEAN Bridges Event Series ผ่านมูลนิธิสันติภาพนานาชาติ (International Peace Foundation, IPF) ซึ่งเป็นมูลนิธิที่อุปถัมภ์โดยผู้ได้รับรางวัลโนเบล ในการสนับสนุนสถาบันทางวิทยาศาสตร์ระดับชาติและนานาชาติ ให้เกิดความร่วมมือและสามารถดำเนินงานร่วมกันได้อย่างสันติและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจและเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ในการนี้ นางสาว ศุภมาสฯ ได้กล่าวแสดงความยินดีและมอบของที่ระลึกแก่ Dr. Sir Richard J. Roberts ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี ค.ศ. 1993 ที่มาร่วมบรรยายพิเศษแก่นักเรียน นักศึกษาและอาจารย์ผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 คน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
โอกาสนี้ นางสาว ศุภมาสฯ พร้อมด้วยแพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะทำงานสำนักงานรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ (Southern Thailand Science Park, STSP) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คํารณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ พร้อมพนักงาน นักวิจัยภายในอุทยานฯ ตลอดจนผู้ประกอบการให้การต้อนรับและแถลงผลการดำเนินงานของอุทยานฯ
ผศ. คำรณฯ กล่าวว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ มีภารกิจหลักในการสนับสนุน เชื่อมโยงและขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคและประเทศ โดยเฉพาะบทบาทการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัย (Research & Development Utilization) กับภาคเอกชนและชุมชน ซึ่งผลการดำเนินงานในปี 2566 อุทยานฯ สามารถส่งมอบผลงานได้ดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมใหม่ จำนวน 270 ราย ผู้ประกอบการเอกชนที่ใช้บริการ 1,001 ราย ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์ได้ 93 ผลงาน การจ้างงาน 302 ราย มูลค่าการลงทุนด้าน R&D คิดเป็น 43.8 ล้านบาท มูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม 201.8 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับทางอุทยานฯ 42,193 ราย และผู้ใช้บริการเครื่องมืออุปกรณ์ 286 ราย
สำหรับอุทยานฯ แห่งนี้ได้มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเฉพาะทาง 4 ด้าน ได้แก่ 1) นวัตกรรมยางพารา ผลักดันการพัฒนาผู้ประกอบการยางพาราให้มีความพร้อมในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นสู่การเป็นนวัตกรรม โดยมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม มูลค่ากว่า 236 ล้านบาท มีเอกชนที่ทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกว่า 292 ราย 2) นวัตกรรมฮาลาล ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้วัตถุดิบจากท้องถิ่นให้ส่งออกสู่ตลาดโลก โดยอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยเป็นผู้นำการส่งออกอยู่ที่อันดับ 15 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกถึง 209,625 ล้านบาท จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมมูลค่า 89.69 ล้านบาท และจำนวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาล 58 ราย 3) ศิลปะอิสลามกับการพัฒนา (อัตลักษณ์ภาคใต้) ส่งเสริมการพัฒนาวัฒนธรรมและงานสร้างสรรค์ โดยเฉพาะ Islamic Art ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น มีรายได้จากการให้บริการ 9.57 ล้านบาท และเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ 328 ล้านบาท และ 4) การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการฟาร์มและสร้างความเป็นอัตลักษณ์สินค้าปศุสัตว์ภาคใต้ชายแดน ส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับการผลิตปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่ โดยมีผู้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี 1600 ราย ต้นแบบผลิตภัณฑ์ 46 ต้นแบบ แบรนด์สินค้าเกิดขึ้นใหม่ 15 แบรนด์ ฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GFM จำนวน 46 แห่ง”
ขณะที่ นางสาว ศุภมาสฯ ได้เดินชมนิทรรศการแสดงผลงานของผู้ประกอบและนักวิจัยภายในอุทยานฯ และกล่าวเสริมอีกว่า “กระทรวง อว. พร้อมที่จะสนับสนุนการสร้างผลงาน สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านกลไกการให้ทุนวิจัย ทรัพยากรมนุษย์ที่เพียบพร้อม แหล่งจัดจำหน่ายสินค้า และหลักสูตรที่พร้อมให้ผู้ประกอบการเข้ามาเรียนรู้ได้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของภาคใต้ และยังมีหลักสูตรระยะสั้นจำนวนกว่า 30 หลักสูตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับผู้ประกอบการได้ในรูปแบบแบบ Non-degree ซึ่งสามารถสำเร็จการศึกษาได้ในระยะเวลาเพียง 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทาง อว. พร้อมที่จะผลักดันผู้ประกอบการรายใหม่และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคใต้ต่อไป”