เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้รับเชิญเป็น Co-Host ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ Korea Creative Content Agency หรือ KOCCA ในการร่วมกันจัดงานเผยแพร่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ไทย – เกาหลี ภายใต้แนวคิด “การนำเสนออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศ (Thailand Creative Industry)” ร่วมกับหน่วยงานสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ องค์การกระจายเสียงและเผยแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ธ.) Thai PBS, สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์, สมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีไทย TDFA, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล DEPA, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กระทรวงวัฒนธรรม, อสมท. MCOT, สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย AAT และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) CEA ณ ฮอลล์ 1 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์
ผศ. ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. ได้รับมอบหมายเป็นผู้แทน บพค. ในการเข้าร่วมกิจกรรมสำคัญดังกล่าว พร้อมด้วย อาจารย์จตุรภรณ์ โชคภูเขียว ประธานคณะประสานงานงานวิจัยขั้นแนวหน้าด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ รศ. ดร.รินา ภัทรมนท์ ประธานคลัสเตอร์ประสานงาน บพค. ด้าน Frontier Research ได้ร่วมกันแสดงจุดยืนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ไทย – เกาหลี สู่การขับเคลื่อน แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry) ของประเทศไทย โดยได้มีการพูดคุยถึงทิศทางการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ภายในงาน บพค. ได้จัดแสดงนิทรรศการเพื่อเผยแพร่พันธกิจ ผลผลิตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ภายใต้หัวข้อ “New Dawn of Thai Film” ซึ่งภายในนิทรรศการมีเนื้อหากล่าวถึงประวัติความเป็นมาของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยและการสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่ บพค. เข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และกระตุ้นพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ นิทรรศการของ บพค. ยังได้รับเกียรติจาก นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วมรับชมพันธกิจและผลผลิตของ บพค. ซึ่งท่านมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีหน่วยงานอื่นให้การสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พร้อมยังกล่าวถึงการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็น Digital Creative Content Hub แห่งเอเชียอาคเนย์ โดย บพค. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เปิดโอกาสให้ประชาชนไทยเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศด้วยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในอนาคต