บพค. ผนึกพลังศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) มุ่งสร้างเครือข่ายการวิจัยขั้นแนวหน้า Frontier Science Alliances ภายใต้แพลตฟอร์มธัชวิทย์รับมือภาวะโลกรวน

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) จัดการประชุมหารือการสร้างภาคีเครือข่ายงานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Science Alliances) ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence, CoE) ภายใต้แพลตฟอร์มวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Science: TAS) หรือ “ธัชวิทย์” มิติที่ 2 ณ ห้องประชุมคราวน์บอลรูม ชั้น 21 โรงแรมคราวน์พลาซ่า ลุมพินีพาร์ค ถนนพระราม 4 เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และประธานคณะกรรมการบริหาร บพค. พร้อมกันนี้ คณะประสานงานคลัสเตอร์ บพค. ได้แก่ ศ.ดร.ฉัตรชัย เหมือนประสาท ประธานคลัสเตอร์ บพค. ด้าน Frontier BCG และการแพทย์ส่วนบุคคล รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล ประธานคลัสเตอร์ บพค. ด้าน Net zero รศ.ดร.รินา ภัทรมานนท์ ประธานคลัสเตอร์ บพค. ด้าน Frontier Research และอาจารย์จตุรภรณ์ โชคภูเขียว ประธานคลัสเตอร์ บพค. ด้าน Frontier SHA AI และ Coding ได้เข้ามาร่วมกำหนดทิศทางการยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อขอการสนับสนุนทุนวิจัยเชิงกลยุทธ์ (Strategic fund) สำหรับปีงบประมาณ 2567

ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. ได้กล่าวรายงานและกล่าวต้อนรับคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขา อาทิ ดร.นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ศ.ดร.โสพิศ วงศ์คำ รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ศ.ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด ผศ.ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ ศ.ดร.ศักดา ดาดวง รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล ดร.ณัฐพศุตม์ ภัทธิราสินสิริ ดร.ศุภฤกษ์ อัครวิทยาพันธุ์ ร่วมกับศูนย์เป็นเลิศ นำโดยผู้อำนวยการศูนย์ฯ ต่างๆ ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วิชัย ริ้วตระกูล (เคมี) ศ.ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ (ปิโตรเคมีและวัสดุ) ศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ (พลังงานและสิ่งแวดล้อม) ศ.เกียรติคุณ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี (คณิตศาสตร์) รศ.ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล (ฟิสิกส์) ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา (ความหลากหลายทางชีวภาพ) ผศ.ดร.สมชาย เชื้อวัชรินทร์ (เทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์) และคุณอภิเดช ไม้หนองกอย ผู้ประสานงานกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวง อว. รวมทั้งอาจารย์และนักวิจัยจากภาควิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชน ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 110 ท่าน ณ ห้องประชุมคราวน์บอลรูม ชั้น 21 โรงแรมคราวน์พลาซ่า ลุมพินีพาร์ค ถนนพระราม 4 เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดงานประชุมฯ เพื่อรวบรวมข้อเสนอโครงการวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขามาร่วมกันพัฒนาโครงการวิจัยที่ตอบโจทย์ต่อการประเด็นที่สำคัญของประเทศไทยและของโลก โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีที่รองรับสภาวะโลกรวน (Climate change) ในการตอบสนองต่อแนวทางนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเป้าสู่การลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608)

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. วีระพงษ์ ฯ ได้กล่าวให้แนวทางการดำเนินงาน นโยบายและบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “Climate Change: CoE Roles in RDI on Climate Change Technology Frontier” ย้ำถึงความสำคัญในการสร้างสรรค์งานวิจัยและผลิตนวัตกรรมที่รองรับผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบอย่างมากต่อประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนแก่ศูนย์ความเป็นเลิศทั้ง 11 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายงานวิจัยในรูปแบบคอนซอร์เทียม (Consortium) ให้กลุ่มวิจัยที่แต่ละสาขาความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลงานที่มีผลกระทบในระดับมหภาค ยกตัวอย่าง ประเทศที่สำเร็จในการสร้างผลงานวิจัยและเทคโนโลยีสูงอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นที่ได้ทำแผนปฏิบัติการในระยะสั้น-ระยะยาว มุ่งเป้าหมายให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในวันนี้ บพค. ได้เชิญศูนย์ความเป็นเลิศทั่วประเทศมาร่วมฟังแนวทางการดำเนินงานของธัชวิทย์ มิติที่ 2 Frontier Science Alliances เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละศูนย์มีศักยภาพในการคิดค้น วิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมสิ่งใหม่ ๆ ได้ดี จึงอยากให้เกิดภาพการทำงานร่วมกัน ออกจากกรอบการทำงานและวิธีคิดแบบเดิม ๆ และผลักดันความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศต่อไป

ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ฯ ยังได้กล่าวบรรยายพิเศษถึงการทำวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แนะนำประเด็นวิจัยที่สำคัญ (Key areas) ด้านต่าง ๆ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ พลังงานทดแทน เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน การขนส่งอย่างยั่งยืน (เครื่องยนต์ไฟฟ้า) ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางเกษตรและอาหาร การเงินและนโยบายสีเขียว ความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์ เศรษฐกิจหมุนเวียน โครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ข้อตกลงร่วมกันของประชาคมโลก การติดตามสิ่งแวดล้อมและการสะสมข้อมูล นอกจากนี้ยังได้บรรยายถึงเทคโนโลยีการลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทน (แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ความร้อนจากแผ่นดินใต้พิภพ) รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เทคโนโลยีอาคารสีเขียว การใช้พลังงานชีวภาพและพลังงานไฮโดรเจน และอื่น ๆ ซึ่งแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสำหรับประเทศไทยได้

ภายในงานประชุมฯ นักวิจัยจากสหสาขาและศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่าง ๆ ได้ร่วมกันทำ Workshop ระดมความเห็น พัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยที่เสนอขอการสนับสนุนงบประมาณประจำปี 2567 ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ โดยแบ่งธีมการนำเสนอออกเป็น 4 ประเด็นใหญ่ ๆ และแบ่งห้องจัดกิจกรรมออกเป็น 3 ห้อง ได้แก่
• ห้องที่ 1 การพัฒนากำลังคนด้าน Net zero emission และการวิจัยที่รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดำเนินการโดย รศ.ดร.เศรษฐ์ฯ ร่วมกับคณะผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Net zero และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อรวบรวมเอาข้อเสนอโครงการทั้งหมด 7 โครงการมาผสานกำลังสร้างผลงานวิจัยขั้นแนวหน้าตามแนวทางของ บพค. ที่กำหนดโจทย์วิจัยข้างต้นไว้ ซึ่งทางคณะผู้ทรงคุณวุฒิเห็นว่า ควรรวมกันเป็นชุดโครงการใหญ่ 1 โครงการ โครงการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งแวดล้อมในเขตเขาหินปูนและถ้ำอีก 1 โครงการ และการพัฒนากำลังคนด้าน Net zero อีก 1 โครงการ
• ห้องที่ 2 การวิจัยด้าน Frontier BCG ดำเนินการโดย รศ.ดร.รินาฯ และอาจารย์จตุรภรณ์ฯ ร่วมกับคณะผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อคัดกรองและพัฒนาข้อเสนอโครงการทั้งหมด 2 โครงการ โดยโครงการแรกเป็นการทำวิจัยปรับปรุงพันธุ์อ้อยในระดับ DNA ให้มีความทนทานต่อแมลง และเพิ่มปริมาณน้ำตาลได้มากขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีรังสีแกมมา พลาสมาและลำไอออน ส่วนโครงการที่ 2 เป็นการพัฒนาการผลิตพลังงานสะอาดอย่างพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen energy) จากเทคโนโลยีพลาสมาและการใช้ประโยชน์จากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีความสอดคล้องกับประเด็นการผลิตและใช้พลังงานสะอาด เป็นพลังงานทางเลือกใหม่สำหรับประเทศไทย
• ห้องที่ 3 การวิจัยด้านอาหารและสุขภาพ ดำเนินการโดย ศ.ดร.ฉัตรชัยฯ ร่วมกับคณะผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อคัดกรองและพัฒนาข้อเสนอโครงการ ทั้งหมด 5 โครงการ ได้แก่ 1) ผลกระทบของอุณหภูมิและมลพิษอากาศต่อการเปลี่ยนแปลงของเซลล์และชีวโมเลกุลในระบบทางเดินหายใจ: การศึกษาในเซลล์และประชากร 2) ระบบอาหารเฉพาะบุคคลสำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 3) การสร้างดัชนีสุขภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์จากข้อมูลสุขภาพทำนายความเสื่อมถอยของร่างกายและการจดจำของสมองในคนไทยเพื่อประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและติดตามสภาวะสุขภาพก่อนการเกิดโรค 4) แนวทางการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ร่วมกับอุปกรณ์แพทย์ในการดูแลผู้ป่วย กรณีศึกษา: หุ่นยนต์สำหรับบังคับทิศทางหัวพ่นพลาสมาเย็นในกระบวนการรักษาแผลเรื้อรังและการประเมินผลตอบแทนทางสังคม 5) การใช้ประโยชน์จากศักยภาพของกระชายแดงเป็นอาหารฟังก์ชันและสารป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งทั้ง 5 โครงการสามารถร่วมกันพัฒนาข้อเสนอโครงการ เป็น 1 ชุดโครงการได้ดี เพื่อส่งมอบการวิจัยด้านอาหารและระบบสุขภาพส่วนบุคคลแก่ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้

นอกจากนี้ โครงการวิจัยที่ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาข้อเสนอโครงการจากห้อง Workshop ทั้ง 3 ห้องเรียบร้อยแล้ว ได้มีการนำเสนอแก่คณะผู้ทรงคุณวุฒิในห้องประชุมใหญ่ เพื่อให้ข้อเสนอแนะ แนวทางการปรับปรุง และชี้เป้าถึงความสำคัญในการผลักดันการสร้างเครือข่ายวิจัยขั้นแนวหน้า เพื่อตอบโจทย์ที่สำคัญของประเทศและบรรลุเป้าหมายตามที่ได้วางไว้ได้ สุดท้ายนี้ ผศ.ดร.ปริปกฯ และอาจารย์จตุรภรณ์ฯ ได้กล่าวสรุปภาพรวมงานและกล่าวขอบคุณคณะอาจารย์ นักวิจัยจากทุกศูนย์ความเป็นเลิศ รวมถึงมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนที่มาร่วมกันสร้างพลังของการขับเคลื่อนธัชวิทย์ มิติที่ 2 Frontier Science Alliances ได้เดินหน้าต่อไป เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมในระดับสากลได้