เมื่อวันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม 2566 ณ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กรุงเทพฯ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดยทีมนักวิเคราะห์โครงการ เข้าร่วมสังเกตการณ์การอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร Robotics สำหรับครู และนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา ระหว่างวันที่ 9 – 27 ตุลาคม 2566 ภายใต้โครงการพัฒนาเพิ่มผู้มีความสามารถพิเศษระดับมัธยมศึกษา-อาชีวศึกษาและเครือข่ายด้านวิทยาการหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และโค้ดดิ้ง (Robotics, AI, and Coding: RAC) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี 2566 จาก บพค. ภายใต้แผนงานย่อย N44 ยกระดับการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา กำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ และนวัตกร ที่มีทักษะสูง ให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อพัฒนาทักษะด้าน RACแก่เยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย-อาชีวศึกษา และครูจากโรงเรียนภายในเครือข่ายกว่า 120 แห่ง ทั้งสังกัดรัฐ เอกชน กรุงเทพมหานคร โดยเป็นนักเรียน 50 คน ครู 50 คน รวมทั้งสิ้น 100 คน
โครงการนี้เป็นความร่วมมือของ 4 หน่วยงานได้แก่ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมกับพันธมิตรทางอุตสาหกรรมกว่า 10 แห่ง จากนักเรียนที่ได้เรียนพื้นฐานผ่านทางระบบออนไลน์แล้วนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะ เตรียมความพร้อมให้เยาวชนได้มีโอกาสเข้าทำงานจริงผ่านการประยุกต์ผ่านโจทย์จากภาคเอกชนด้าน RAC รวมถึงพัฒนาทักษะครูจากสถาบันพันธมิตรให้มีความรู้ ความเข้าใจเพื่อส่งเสริมการสอนแก่นักเรียนนั้น ในการอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนเกี่ยวกับ Robotics, Industrial sensor & actuator, Internet of Things และ Augmented Reality (AR) โดยประสานองค์ความรู้ทั้งหมด ลงมือปฏิบัติจริงเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้สามารถทำงานตอบโจทย์จากภาคอุตสาหกรรมได้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและพัฒนาต่อยอดได้ต่อไป