เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. และทีมนักวิเคราะห์ด้านการพัฒนากำลังคน พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.รินา ภัทรมานนท์ ประธานคลัสเตอร์ประสานงาน บพค. ด้าน Frontier BCG และ คุณจตุรภรณ์ โชคภูเขียว ประธานคลัสเตอร์ประสานงาน บพค. ด้าน Coding และ AI จัดการประชุมหารือแนวทางการพัฒนากำลังคนศักยภาพสูงด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพแห่งอนาคต ร่วมกับคุณรักษ์ชัย เร่งสมบูรณ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด (Fruita Biomed Co. Ltd.) ดร.วิศิษฐ ทวีปรังษีพร ประธานกรรมการบริหารบริษัท SKAI MED (Thailand) จำกัด และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์สุทธิ พื้นแสน รองคณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ ห้องประชุมหว้ากอ 3 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
คุณรักษ์ชัย เร่งสมบูรณ์ กล่าวว่า บริษัทมีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทั้งในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ อาหาร และการเกษตร โดยต้องการกำลังคนมาร่วมพัฒนาในแง่ของการทำวิจัยในห้องปฏิบัติการ การบริหารจัดการธุรกิจ และการออกแบบเครื่องมือการผลิตระดับอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถแบ่งเป็นระดับได้ 3 ระดับ ดังนี้ 1) สร้างคนที่มีความเชี่ยวชาญเทคนิค ออกแบบ พัฒนาโรงงาน สร้างเครือมือ เครื่องจักรที่ใช้งานได้จริง เพื่อเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น 2) สร้างคนที่พัฒนาระบบ แพลตฟอร์ม หรือแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมโยงการทำงานแบบดิจิทัลสู่เครื่องจักร มีความแม่นยำและคุณภาพสูง และ 3) สร้างคนที่ทำงาน สร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมืออาชีพ พร้อมเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และบริษัทมีระบบนิเวศการวิจัยที่ครอบคลุมหลายส่วน ได้แก่ Biotech (Bio machinery, Bio plant consult & Engineering, Bio-processing) Environment & Agritech (Biopolymer packaging, Bio surfactant, Bio insecticide) Medical (Biomedical tech, Dialysis system, Cell therapy anti-aging) และ Foodtech (IQF Frozen food, Organic farm, Bio nutrients)
ในการนี้ บพค. ในฐานะผู้ขับเคลื่อนและตัวกลาง (Intermediary) การประสานงานแพลตฟอร์มวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences, TAS) หรือ “ธัชวิทย์” ยินดีที่จะส่งเสริมและผลักดันการพัฒนากำลังคนศักยภาพสูง เพื่อตอบโจทย์ต่อความต้องการของอุตสาหกรรม และยกระดับฐานะเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตได้ในระดับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ภายในปี 2580 อีกทั้ง หลักสูตรการพัฒนากำลังคนแบบมุ่งเป้ายังจะทำให้เกิดหลักสูตรที่เน้นการพัฒนาผู้เรียนแบบใหม่ (Non-conventional Manpower) สร้างทักษะกระบวนการคิดที่ดี มีเจตคติ สร้างความน่าสนใจ สร้างแรงจูงใจในการเรียนสำหรับคนรุ่นใหม่อีกด้วย