เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. ได้รับเกียรติกล่าวเปิดการประชุม “Denmark-Thailand Quantum Technology Seminar” ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ซึ่งสนับสนุนโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านควอนตัมระหว่างประเทศไทยและประเทศเดนมาร์ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Niels Bohr Institute ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านฟิสิกส์ระดับโลกที่มีชื่อเสียงของประเทศเดนมาร์ก ภายใต้สังกัดของมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (University of Copenhagen) และส่งเสริมให้เกิดการยกระดับศักยภาพทางเทคโนโลยี การสร้างนวัตกรรม พร้อมผลักดันให้เกิดการพัฒนากำลังคนทางด้านเทคโนโลยีควอนตัมของประเทศไทย
โอกาสนี้ Prof. Jan Westenkaer Thomsen Chief Operating Officer for NNF Quantum Computing Programmer (NQCP) and Quntum Coordinator for University of Copenhegen ได้นำเสนอความก้าวหน้าและการผลักดันทางเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศเดนมาร์ค ที่ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก และการนำเทคโนโลยีควอนตัมไปเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่บริษัทขนาด Startups SMEs ไปจนถึงบริษัทระดับโลก อาทิ IBM และ Microsoft ซึ่งถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยไทยในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมไทยและก้าวสู่เวทีโลกในอนาคต
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา หัวหน้าโครงการ “การร่วมวิจัยเทคโนโลยีควอนตัมเพื่อส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศเชิงอุตสาหกรรมสำหรับเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า” ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพค. ได้นำเสนอภาพรวมงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีควอนตัมของกลุ่มคอนซอร์เทียมควอนตัมในประเทศไทย และแนวทางการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีควอนตัมที่ประเทศไทยต้องการขับเคลื่อน นอกจากนี้ ดร. ธิปรัชต์ โชติบุตร หนึ่งในนักวิจัยในคอนซอร์เทียม ได้นำเสนอผลงานวิจัยทางด้าน Quantum Algorithm และ Machine Learning ทั้งในประเด็นของการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าว
ในการประชุมหารือครั้งนี้ ทางคณะนักวิจัย และ บพค. ยังได้พูดคุยหารือกับ Prof. Jan W. Thomsen เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของการพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีควอนตัม รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีควอนตัมร่วมกันระหว่างประเทศไทยและประเทศเดนมาร์กที่จะเกิดการดำเนินและขับเคลื่อนร่วมกันต่อไปในอนาคต