บพค. ผสานพลังเครือข่ายนักวิจัยด้านเทคโนโลยีระบบโลกและอวกาศ จัดประชุมต่อยอดการสร้างดาวเทียมไทย ผลักดันการใช้เทคโนโลยีอวกาศพัฒนาประเทศสู่โอกาสใหม่ในอนาคต

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. จัดการประชุม Frontier Technology Forum: The Future Perspective on Earth-Space Technology in Thailand “การพัฒนาเทคโนโลยีระบบโลกและอวกาศ รวมถึงการสร้างดาวเทียมภายในประเทศกับโอกาสของประเทศไทย ผ่านมุมมองของผู้ใช้ประโยชน์” ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งด้านการวิจัย การศึกษา ภาคเอกชน และประชาสังคม

โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระบบโลกและอวกาศในการเข้าร่วมเสวนา ได้แก่
1) ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นักสมุทรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ
2) ศ. ดร.วิษณุ มีอยู่ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
3) นสพ. ดร.มนูศักดิ์ วงศ์พัชรชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมวิจัยด้านไบโอเทค วิชาการอาหารสัตว์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
4) คุณณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหาร Spaceth.co
5) ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ ผู้ดำเนินรายการ

รวมทั้งยังมีประธานกรรมการบริหาร บพค. คณะอนุกรรมการเทคนิคด้านการวิจัยขั้นแนวหน้าของประเทศ ผู้ทรงวุฒิ บพค. พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานรัฐและเอกชน เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในที่ประชุมด้วย

ในการนี้ วิทยากรและผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ได้แสดงข้อคิดเห็นถึงแนวทางการผลักดันและขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศเพื่อยกระดับเศรษฐกิจที่มีอยู่ และเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นโอกาสของประเทศไทย โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งด้านการวิจัย การศึกษา ภาคเอกชนหรืออุตสาหกรรม และภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดและขับเคลื่อนนโยบาย ในการตั้งเป้าหมาย ร่วมลงทุนและดำเนินงานร่วมกัน ตลอดจนขับเคลื่อนด้วยกระบวนการที่สอดรับและนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้ โดยต้องพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคู่กับการพัฒนาทักษะของบุคลากรวิจัยให้สอดคล้องกับเป้าหมาย พร้อมกันนั้นต้องมีการสื่อสารกับภาคประชาชนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้เห็นถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีอวกาศไปใช้อย่างแท้จริง ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา และปลูกฝังการรับรู้และสร้างแรงบันดาลใจด้านเทคโนโลยีอวกาศให้กับเยาวชน เพื่อสร้างระบบนิเวศวิจัยและการพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีระบบโลกและอวกาศอย่างความยั่งยืน อีกทั้งเทคโนโลยีที่ได้จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ และใช้ในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาและรับมือกับภัยพิบัติ การจัดการด้านระบบการเกษตรเพื่อยกระดับเศรษฐกิจด้านการเกษตรของไทย รวมถึงยกระดับความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยในเวทีนานาชาติ

อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยด้านเทคโนโลยีระบบโลกและอวกาศควรต้องพิจารณาเป้าหมายในแต่ละ state-gate ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ได้จริง จนนำไปสู่การยกระดับสู่อุตสาหกรรมได้สำเร็จ โดยต้องคำนึงถึง 1) Technology Localization หรือระดับองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีอยู่และเชื่อมโยงไปถึงการใช้ประโยชน์ในอนาคต 2) Self Sustainable หรือกระบวนการที่ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และ 3) Business Value หรือการประเมินมูลค่าของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการกำหนดทิศทางในการพัฒนาและสนับสนุนเทคโนโลยีอวกาศอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย อีกทั้งต้องนำ Digital Technology มาประยุกต์ใช้ด้านเทคโนโลยีอวกาศให้มากขึ้น ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการใช้ในการทำนายผลหรือวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับการวางนโยบายของภาครัฐให้เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การประชุมยังได้มีการนำเสนอโครงการวิจัยด้านเทคโนโลยีระบบโลกและอวกาศใน 3 ด้านหลัก ดังนี้

  • ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อยกระดับบุคลากรวิจัยไทยให้มีศักยภาพในการออกแบบและสร้างดาวเทียมภายในประเทศ ในหัวข้อ “ผลการดำเนินงานสร้างดาวเทียม TSC-1 และก้าวต่อไปของการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมภายในประเทศ” ภายใต้การดำเนินงานโดยภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium) ซึ่งนำเสนอโดย ดร.วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.
  • ด้านการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภูมิสารสนเทศจากดาวเทียมสำหรับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการจัดการทางการเกษตร ในหัวข้อ “การเกษตรอัจฉริยะและการแก้ปัญหาประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีอวกาศ” ภายใต้การดำเนินงานโดยภาคีวิจัยฟิวเจอร์เอิร์ธแห่งประเทศไทย (Future Earth Thailand Consortium) ซึ่งนำเสนอโดย ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ.
  • ด้านการทดลองวิจัยในอวกาศ 3 โครงการ ได้แก่ การทดสอบผลึกเหลวเพื่อศึกษาถึงการตอบสนองของผลึกเหลวต่อความหนาแน่นบรรยากาศและอุณหภูมิในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ในหัวข้อ “การออกแบบและสร้างเพย์โหลดสำหรับการทดลองผลึกเหลวบนสถานีอวกาศ” โดย รศ. ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม นักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การศึกษากลไกเชิงลึกทางการแพทย์เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาโรคกระดูกพรุน ในหัวข้อ “แนวทางการรักษาภาวะกระดูกบางและการเปราะหักของใยกระดูกภายใต้ความโน้มถ่วงที่ต่างจากปรกติ: ผลลัพธ์เชิงบูรณาการของสารเคมีจากระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ เนื้อเยื่อไขมัน กล้ามเนื้อ และการออกกำลังกาย” โดย ศ. ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ นักวิจัยจากหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และการพัฒนาเทคโนโลยีระบบการเกษตรนอกโลก ในหัวข้อ “การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศด้านระบบการเกษตรเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับยุคเศรษฐกิจอวกาศ” โดย ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ นักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • การประชุมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือในการเข้าร่วมงานเป็นอย่างดีจากหลายหน่วยงานชั้นนำในประเทศ ทั้งนักวิจัยจากสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย และภาคีวิจัยฟิวเจอร์เอิร์ธแห่งประเทศไทย ผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิจัยได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และได้มีข้อสังเกตถึงแนวทางในการพัฒนางานวิจัยให้มีเป้าหมายและตอบโจทย์ประเทศอย่างชัดเจน มีการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นวิจัย แนวทางการบริหารจัดการ Consortium ให้มีประสิทธิภาพ และมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินงานได้สำเร็จตามเป้าหมาย อีกทั้งควรมีเครือข่ายความร่วมมือดำเนินงานกับองค์กรต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดและสร้างผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างชัดเจนในการยกระดับเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศที่จะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันต่อไปในอนาคต

    บพค. ได้รับความร่วมมือในการจัดแสดงผลงานวิจัยที่แสดงถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศ จากทั้ง 5 โครงการที่ได้มานำเสนอ อีกทั้งได้รับความอนุเคราะห์จาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ร่วมสนับสนุนการจัดแสดงความก้าวหน้าในการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหารของไทยสู่มาตรฐานอวกาศ (Space Food Safety Standard) ภายใต้โครงการ Thai food – Mission to Space ซึ่งจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และ บพค. จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมในอนาคตของประเทศไทยผ่านการสนับสนุนด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมด้านระบบโลกและอวกาศต่อไป