บพค. - สกสว. ร่วมติดตามการดำเนินงานโครงการภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก บพค. ณ จังหวัดขอนแก่น

ระหว่างวันที่ 23 – 24 สิงหาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ผศ. ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รอง ผอ.บพค. ศ. ดร.สุพจน์ หารหนองบัว ดร.ธิดารัตน์ โกมลวานิช ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วยนักวิเคราะห์อาวุโส ซึ่งได้รับเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำโดย รศ. ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาระบบ ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ พร้อมด้วยคณะนักวิชาการจาก สกสว. เข้าร่วมติดตามการดำเนินงานโครงการภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก บพค. ณ พื้นที่จังหวัดขอนแก่น

ในวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ทางคณะ บพค. และ สกสว. เดินทางถึงจังหวัดขอนแก่น ร่วมลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน “โครงการพัฒนากลไกการสร้างและสะสมบุคลากรวิจัยที่มีคุณภาพสูง” ณ ห้องประชุม co-working space อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ. ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับ จากนั้น รศ. ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาระบบ ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ พร้อมด้วยคณะนักวิชาการจาก สกสว. กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ของการติดตามการดำเนินงานโครงการ พร้อมทั้ง ผศ. ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รอง ผอ.บพค. ได้นำเสนอภาพรวมของนโยบายและแนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยของ บพค. ให้แก่คณะผู้ทรงคุณวุฒิ สกสว. และนักวิจัยในที่ประชุมทราบ

ในการนี้ รศ. ดร.รินา ภัทรมานนท์ หัวหน้าโครงการ กล่าวนำเสนอภาพรวมของ “โครงการพัฒนากลไกการสร้างและสะสมบุคลากรวิจัยที่มีคุณภาพสูง” ที่มีกรอบแนวคิดเพื่อส่งเสริมมาตรการ 2 ประการ ได้แก่ (1) การสร้างระบบส่งเสริมการพัฒนานักวิจัยระดับสูง (นักวิจัยหลังปริญญาเอกและนักวิจัยหลังปริญญาโท) และ (2) การพัฒนากำลังคน/นักวิจัยให้ทำงานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ของอาเซียน ซึ่งมีการดำเนินงานโครงการในรูปแบบ Consortium ตามสาขาการวิจัยที่สำคัญ ได้แก่ Quantum Technology, High Energy Physics, S-Curve/New S-Curve, Frontier-BCG และ Social science, Humanities and Arts (SHA) ทั้งนี้ หัวหน้า Consortium แต่ละท่านยังได้เข้าร่วมนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการ พร้อมกับนักวิจัยพี่เลี้ยง และนักวิจัยหลังปริญญาโท-เอก รวม 30 คน ที่อยู่ภายใต้สังกัดหลากหลาย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ นางสาวจตุรภรณ์ โชคภูเขียว ผู้ร่วมวิจัย ได้นำเสนอผลการดำเนินงานของโครงการในส่วนการสร้างแพลตฟอร์มอัจฉริยะในรูปแบบเว็บไซต์ postdocthailand.org ที่เชื่อมโยงนักวิจัย อุตสาหกรรม และความร่วมมือจากภาคเอกชน ผลักดันให้เกิดการสร้างเครือข่ายนักวิจัย รวมถึงการจับคู่นักวิจัยกับสถานประกอบการ สู่กลไกการต่อยอดการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากนั้น ทางคณะผู้ทรงคุณวุฒิ บพค. และ สกสว. ยังได้ร่วมลงพื้นที่การดำเนินงานของนักวิจัยภายใต้โครงการใน Consortium สาขา Frontier-BCG นำเสนอการพัฒนางานวิจัยและแนวทางการนำไปใช้ประโยชน์เชิงประจักษ์ในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์ฟีโนมนานาชาติ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม และหอศิลป์ สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมการผลิต โรงงานยา คณะเภสัชศาสตร์ ศูนย์พัฒนานวัตกรรมและมาตรฐานทางเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด (CISMaP) คณะเทคนิคการแพทย์ นอกจากการสนับสนุนทางด้านงานวิจัยและพัฒนา ทางโครงการฯ ยังได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริม และผลักดันให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยและบุคลากรวิจัยผู้มีศักยภาพสูง สร้างอาชีพเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ในการจัดอบรมการปฐมนิเทศและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการการพัฒนากลไกการสร้างและสะสมบุคลากรวิจัยที่มีคุณภาพสูง (National Postdoctoral/ Postgraduate System of Thailand) รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานของแพลตฟอร์มที่สามารถให้ E-Certificate หรือ Digital Certificate ให้แก่นักวิจัยหลังปริญญาเอก/นักวิจัยหลังปริญญาโท หลังจากผ่านการอบรม-ประเมิน-ส่งผลงานในโครงการครบสมบูรณ์ อีกทั้ง แพลตฟอร์ม National Postdoctoral/Postgraduate Fellowship of Thailand ของทางโครงการฯ ก็ได้พัฒนาส่วนของการใช้งานให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็น National Platform system of Thailand ต่อไป

ในวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ทางคณะ บพค. และ สกสว. เดินทางไปยังคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ติดตามการดำเนินงาน “โครงการรูปแบบและนวัตกรรมการเรียนรู้แบบสมาร์ทสำหรับการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในสภาพแวดล้อมดิจิทัล” โดยมี รศ. ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ และคณะนักวิจัย ให้การต้อนรับ พร้อมกล่าวนำเสนอผลงานที่ประจักษ์ภายใต้โครงการ ในรูปแบบแพลตฟอร์มการเรียนรู้ Smart Learning Innovation สำหรับพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครู และการพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ของนักเรียนในยุคดิจิทัล ทั้งในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งต้นแบบแพลตฟอร์มดังกล่าวนี้ได้รับการพัฒนาใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว หลังจากนั้นจะได้นำไปทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมายครูและนักเรียน เพื่อการพัฒนางานวิจัยในขั้นตอนต่อไป รวมไปถึง ทางโครงการจะพัฒนาการสร้างความร่วมมือในแต่ละโครงการย่อยและสร้างกลไกการรับผิดชอบแต่ละสัดส่วนภายใต้โครงการร่วม นำไปพัฒนาต่อยอดในการผนวกองค์ความรู้ไปสู่รายวิชาเพิ่มเติมหรือรายวิชาเลือกเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเยาวชนอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

บพค. ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างระบบส่งเสริมการพัฒนานักวิจัยระดับสูง และการพัฒนากลไกและสะสมบุคลากรวิจัยที่มีคุณภาพสูง เพื่อรองรับการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในอนาคต อีกทั้งจะเป็นกลไกที่สามารถดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เพื่อมาร่วมงานกับสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยของรัฐ และภาคอุตสาหกรรมให้เกิดความเชื่อมโยงกันอย่างมีระบบ ตลอดจนการพัฒนากำลังคน นักวิจัยให้ทำงานในภาคอุตสาหกรรม โดยการสร้างขีดความสามารถในการวิจัยและนวัตกรรมของนักวิจัยที่มีความร่วมมือและเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง บพค. ได้ดำเนินการเชื่อมโยงในเชิงนโยบายกับโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการทำงานร่วมกัน นำไปสู่การพัฒนากระบวนการหรือแพลตฟอร์มเทคโนโลยีแก่ภาคส่วนอุตสาหกรรมต่อไป