บพค. ร่วมสังเกตการณ์และร่วมการอบรมหลักสูตรเทคโนโลยีระบบเกษตรอัจฉริยะ โดยใช้นวัตกรรมแบบเปิด HandySense ขั้นสูง ภายใต้โครงการนักออกแบบ/นักพัฒนาระบบบริหารแปลงเกษตรด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (IoT) นวัตกรรมแบบเปิด HandySense ระหว่างวันที่ 23 – 25 สิงหาคม 2566 ณ จังหวัดระยอง
เมื่อวันพุธที่ 23 สิงหาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดย ดร.ชิดชนก อนุตระกูลชัย และ ดร.ศุภฤกษ์ บุพศิริ นักวิเคราะห์อาวุโส บพค. เดินทางเข้าร่วมสังเกตการณ์การอบรมหลักสูตรเทคโนโลยีระบบเกษตรอัจฉริยะ โดยใช้นวัตกรรมแบบเปิด HandySense ขั้นสูง ภายใต้โครงการวิจัยหลัก “พัฒนาพลเมืองดิจิทัลเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะด้วย STEM, Coding, IoT และ AI” และโครงการย่อย “โครงการนักออกแบบ/นักพัฒนาระบบบริหารแปลงเกษตรด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (IoT) นวัตกรรมแบบเปิด HandySense” โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี 2566 จาก บพค. ภายใต้โปรแกรมที่ 21 ยุทธศาสตร์ที่ 4 ยกระดับการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา กำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ และนวัตกร ที่มีทักษะสูง ให้มีจำนวนมากขึ้น โดยมีผู้เข้าอบรมประกอบด้วย นักเรียน/นักศึกษา ครู/อาจารย์ รวมถึง วิสาหกิจชุมชน ผ่านเครือข่ายสถาบัน/หน่วยงาน จำนวน 8 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) สิงห์บุรี ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนสิรินธร จ.นครปฐม ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 6 จังหวัดนครสวรรค์ รวมทั้งสิ้น 48 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมไอโอทีแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลางมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแก่ผู้เข้าร่วมอบรมด้วย
การอบรมนักออกแบบ/นักพัฒนาระบบบริหารแปลงเกษตรอัจฉริยะนี้เป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนานวัตกรให้มีความรู้และทักษะการออกแบบ Smart farming ให้ตอบโจทย์ต่อผู้ใช้งานภาคการเกษตร โดยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (IoT) นี้จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้ภาคเกษตรกรรมของประเทศ เกิดการประยุกต์ใช้งานในการทุ่นแรงในการจัดการพื้นที่ ประหยัดเวลาและทรัพยากร คำนวณช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเก็บข้อมูล Big Data เพื่อการวิเคราะห์และวางแผนพัฒนาภาคการเกษตรในระดับประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังขาดนวัตกรที่มีความเชี่ยวชาญและมีความสามารถในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเหล่านี้ให้แก่เกษตรกรผู้ใช้งานได้อย่างทั่วถึง ทางโครงการฯ จึงได้จัดการอบรมหลักสูตรฯ เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้เป็นนวัตกรภาคการเกษตร รวมถึงสร้างอาชีพแก่เยาวชนให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ผู้ฝึกสอนที่เข้าร่วมการอบรมสามารถต่อยอด และถ่ายทอดความรู้ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ผลิตโดยคนไทยแก่เยาวชนในสถาบันต่าง ๆ ในการเพิ่มนวัตกรให้ทันต่อความต้องการของภาคการเกษตร
เทคโนโลยี HandySense เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นโดย ดร.นริชพันธ์ เป็นผลดี และทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สวทช. ซึ่งพร้อมต่อการนำไปใช้งานได้จริง เพื่อให้การบริหารจัดการแปลงเกษตรมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยนวัตกรสามารถออกแบบ ปรับแต่งรูปแบบการจัดการได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการรดน้ำและปุ๋ยตามเวลาที่ตั้งค่าไว้ หรือการตั้งค่าตามปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมของพืชนั้นๆ เช่น ชาวสวนทุเรียนต้องการติดตั้งอุปกรณ์ให้มีการรดน้ำเป็นเวลาตามรอบ และควบคุมให้รดน้ำตามความชื้นที่อยู่ในดิน ระบบการบริหารแปลงเกษตรนี้จะมีเซนเซอร์ที่คอยตรวจวัดปริมาณความชื้นในดิน หากค่าความชื้นในดินไม่อยู่ในค่าที่เหมาะสม ระบบการควบคุมน้ำจะทำตามคำสั่งที่นวัตกรได้ป้อนข้อมูลไว้ได้ อีกทั้งเกษตรกรผู้ใช้งานยังสามารถควบคุมระบบการจัดการแปลงเกษตรนี้ได้จากพื้นที่ห่างไกลได้ด้วยโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอีกด้วย
ในการนี้ นายนพดร ปัญญาจงถาวร รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต สวทช. ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย ได้นำคณะผู้บริหาร อาจารย์ นักเรียน นักศึกษาสถาบันต่างๆ นักวิเคราะห์ บพค. รวมถึงผู้ประกอบการเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชน “บ้านสวนกลชาญ” ซึ่งเป็นต้นแบบแปลงเกษตรอัจฉริยะที่ได้นำเทคโนโลยี HandySense เข้ามาประยุกต์ใช้ในการออกแบบระบบการบริหารจัดการรดน้ำและปุ๋ยภายในสวนทุเรียนอินทรีย์ ซึ่งได้มีนวัตกรที่ผ่านการอบรมหลักสูตรของทีมนักวิจัยได้เข้ามาดูแลและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรในวิสาหกิจชุมชนตำบลวังจันทร์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง และได้รับการตอบรับที่ดีจากการนำพาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้งานกับเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมที่มีอยู่นั้น
นอกจากนี้ คณะนักวิจัยได้พาเข้าไปเยี่ยมชมเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (The Eastern Economic Corridor of Innovation, EECi) ที่ตั้งอยู่ภายในวังจันทร์วัลเลย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม ในการรองรับการขยายผลงานวิจัย การทดสอบการสาธิตเทคโนโลยี การประเมินความเป็นไปได้ทั้งในเชิงเทคโนโลยีและเชิงเศรษฐศาสตร์ รวมถึงการดัดแปลงเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศมาสู่การใช้ประโยชน์จริงใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1. นวัตกรรมการเกษตร 2. ไบโอรีไฟเนอรี 3. แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและการขนส่งสมัยใหม่ 4. ระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 5. เทคโนโลยีการบินและอากาศยานไร้นักบิน และ 6. เครื่องมือแพทย์ โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในทุกภาคส่วน ทั้งนี้ คณะนักวิจัยได้นำชมเมืองนวัตกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS) ที่ประกอบด้วย Smart Greenhouse ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงเรือนอัจฉริยะ และ เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS) ที่กำลังพัฒนาเป็น ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center) พร้อมระบบสายการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีการผลิต 4.0 อันจะตอบโจทย์ต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้ด้วยระบบหุ่นยนต์ที่มีหน้าที่เฉพาะทางต่างๆ และ EECi แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมชั้นนำของประเทศ ตลอดจนระดับภูมิภาคอาเซียน เป็นแหล่งรวมผู้มีความสามารถสูงหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจำนวนมาก ซึ่งทาง บพค. พร้อมที่จะเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนการสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของประเทศด้วยเช่นกัน