บพค. ร่วมกับ สวทช. จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยสู่อุตสาหกรรมฐานนวัตกรรมของประเทศ Thailand Strategy Workshop on Research & Innovation Infrastructures เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องแมนดาริน เอ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ
การจัดประชุมในช่วงเช้า ได้รับเกียรติจาก ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม จากนั้น นางสาววัชริน มีรอด และคณะทำงาน สวทช. รายงานผลการศึกษา “โครงการศึกษาสถานภาพโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยที่นำไปสู่นวัตกรรมของประเทศ” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บพค. ในทั้ง 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งการศึกษาระยะนี้เป็นระยะที่ 2 ใน 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มผู้มีรายได้สูงและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาครัฐและภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในสาขาอุตสาหกรรมดังกล่าว ในประเด็นหารือด้าน Cross Cutting Infrastructure
จากนั้น ในช่วงบ่าย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนา กำลังคน และทุนด้านการพัฒนา สถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กล่าวเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ และเสนอแนวทางการสนับสนุนโครงการภายใต้แผนงานย่อย N41 (S3P20) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัย และการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่สอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และบริการแห่งอนาคต ปีงบประมาณ 2567 แก่ผู้เข้าร่วมประชุม โดยกล่าวถึงบทบาทความรับผิดชอบของ บพค. ที่สอดรับกับเป้าประสงค์และจุดมุ่งเน้นของนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 แนวทางการดำเนินงานของ บพค. ไปจนถึง ความสำคัญของการพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยที่ บพค. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดแนวทางการลงทุน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการทุนในแผนงานนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีการทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากโครงการที่ได้รับสนับสนุนทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการวิจัย โครงการ “การพัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลเปิดด้านการแพทย์ สำหรับการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม เพื่อการต่อยอดด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย” โดยมี นายแพทย์ภัทรวินฑ์ อัตตะสาระ ผู้อำนวยการสำนักดิจิทัลการแพทย์ กรมการแพทย์ มาร่วมนำเสนอแนวทางการดำเนินโครงการ พร้อมคณะทำงานภายใต้ Medical AI Consortium จากมหาวิทยาลัยมหิดล และ สวทช.
ในการนี้ บพค. เชิญชวนผู้เข้าร่วมประชุมแบ่งกลุ่มตามสาขาอุตสาหกรรม เพื่อหารือการพัฒนาข้อเสนอเชิงหลักการ (Concept Proposal) สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยของประเทศ ในรูปแบบ Cross Cutting Workshop เพื่อระดมสมองและหารือหลักการ (Concept) ที่เหมาะสมที่สุดในการนำไปพัฒนาเป็นข้อเสนอโครงการ ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง และสอดรับกับเป้าหมายของแผนงานย่อย N41 (S3P20) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัย และการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่สอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และบริการแห่งอนาคต โดย บพค. ได้รับความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมจากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน