เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำทีมโดย ผศ. ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ บพค. ดร.เศรษฐพันธ์ กระจ่างวงษ์ อนุกรรมการเทคนิคด้านการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศและภาคีสำคัญของโลก และ ศ. ดร.สุพจน์ หารหนองบัว อนุกรรมการเทคนิคด้านการวิจัยขั้นแนวหน้าของประเทศ พร้อมด้วย น.สพ.ดร.กษิดิ์เดช ธีรนิตยาธาร และ ศ. ดร.ธวัชชัย ตันฑุลานิ ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งนักวิเคราะห์ บพค. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน “โครงการแบตเตอรี่ไหลยุคใหม่สำหรับการประยุกต์ใช้งานพลังงานหมุนเวียน” ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รศ. ดร.สุรเทพ เขียวหอม หัวหน้าโครงการ พร้อมทีมนักวิจัย ให้การต้อนรับ
โครงการแบตเตอรี่ไหลยุคใหม่สำหรับการประยุกต์ใช้งานพลังงานหมุนเวียน ได้มุ่งเน้นการพัฒนาระบบแบตเตอรี่ไหลที่ใช้วัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่สามารถอัดประจุซ้ำได้ โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนเทคโนโลยีแบตเตอรี่ไหลที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือแบตเตอรี่ไหลวานาเดียม เนื่องจากวานาเดียมนั้นมีความเป็นพิษและราคาสูง โดยเป้าหมายในการพัฒนาแบตเตอรี่ไหล คือ การใช้เป็นระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าเพื่อให้สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะพลังงานหมุนเวียนมีลักษณะแปรผันไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 – 2579 และนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงาน ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เป็นร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ. 2579
โอกาสนี้ ผศ. ดร.วรจิตต์ฯ รองผู้อำนวยการ บพค. ได้กล่าวแนะนำผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมชี้แจงวัตถุประสงค์ของการติดตามโครงการ โดยมี รศ. ดร.สุรเทพ เขียวหอม หัวหน้าโครงการ กล่าวต้อนรับและนำเสนอข้อมูลภาพรวมโครงการแบตเตอรี่ไหลยุคใหม่สำหรับการประยุกต์ใช้งานพลังงานหมุนเวียน โดยมีคณะผู้ร่วมวิจัย คือ รศ.ดร.รจนา พรประเสริฐสุข เป็นผู้นำเสนอความก้าวหน้าในหัวข้อ “การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาการเกิดออกซิเจนและออกซิเจนรีดักชันสำหรับขั้วอากาศของแบตเตอรี่ไหลสังกะสี-อากาศ” ดร.ชาคริต ศรีประจวบวงษ์ เป็นผู้นำเสนอความก้าวหน้าในหัวข้อ “การพัฒนาวัสดุคาร์บอนสำหรับเตรียมขั้วอิเล็กโทรด” ผศ. ดร.ประสิทธิ์ พัฒนะนุวัฒน์ เป็นผู้นำเสนอความก้าวหน้าในหัวข้อ “การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยารีดักชันออกซิเจนและตัวเร่งปฏิกิริยาการเกิดออกซิเจนสำหรับขั้วอากาศของแบตเตอรี่ไหลสังกะสี-อากาศ” และ ดร.มนัสวี สุทธิพงษ์ เป็นผู้นำเสนอความก้าวหน้าในหัวข้อ “การประยุกต์ใช้เทคนิคการจำลองพลวัตเชิงโมเลกุลเพื่อศึกษาสมบัติทางกายภาพและสมบัติทางเคมีของสารละลายอิเล็กโทรไลต์ในแบตเตอรี่ไหล”
ทั้งนี้ โครงการฯ ได้มีการทำวิจัยร่วมกับนานาประเทศ เช่น Fraunhofer Institute for Chemical Technology สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี; Seoul National University สาธารณรัฐเกาหลี; Nanyang Technological University, สาธารณรัฐสิงคโปร์; Synchrotron Soleil, สาธารณรัฐฝรั่งเศส; Mitsubishi Heavy Industries, Ltd. และ Kyoto University ประเทศญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ผศ. ดร.วรจิตต์ฯ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการฯ และ ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ร่วมให้คำชี้แจงและข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้ตามแผน และมีแนวทางการขยายผลต่อยอดงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป