เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ผศ. ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วย ศ. ดร.ศักดา ดาดวง ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิเคราะห์ บพค. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน “โครงการบ่มเพาะนักวิจัยศักยภาพสูงเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ” โดยมี ดร.ปภาพิต หิรัญสิริสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นหัวหน้าโครงการ พร้อมทีมนักวิจัยร่วมเดินทาง ณ บริษัท แอดแวนเทจ ฟุตแวร์ จำกัด อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
โครงการบ่มเพาะนักวิจัยศักยภาพสูงเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมฐานชีวภาพได้มุ่งเน้นการสร้างระบบพัฒนาทักษะและความสามารถของนักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกและหลังปริญญาโทที่มีทักษะความสามารถผ่านกระบวนการทำโจทย์วิจัยที่มาจากภาคอุตสาหกรรมกว่า 24 บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมประเภทเกษตรและอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอุตสาหกรรม และทรัพยากร เพื่อให้มีสมรรถนะที่สูงขึ้นและสามารถดำเนินงานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) อันจะนำไปสู่การพัฒนากำลังคนในภาคการผลิตต่อไป
โอกาสนี้ ผศ. ดร.ศิรินันท์ฯ รองผู้อำนวยการ บพค. ได้กล่าวแนะนำผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมชี้แจงวัตถุประสงค์ของการติดตามโครงการ โดยมีตัวแทนจากบริษัท แอดแวนเทจ ฟุตแวร์ จำกัด กล่าวต้อนรับและนำเสนอข้อมูลภาพรวมของบริษัท ว่าเป็นบริษัทในเครือสหพัฒน์ ที่ทำการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ (Natural rubber: NR) และยางสังเคราะห์ (Synthetic rubber : SR) เพื่อให้ได้ยางผสมสูตร (Rubber Compound) ที่พร้อมจะนําไปผ่านกระบวนการขึ้นรูป (Processing) ให้เป็นรูปร่างผลิตภัณฑ์ เช่น ชิ้นส่วนและพื้นรองเท้าชั้นนำภายใต้ยี่ห้อ Asics, Bata, ECCO, KEEN, Keto, Lacoste, Scholl เป็นต้น พร้อมกันนี้ บพค. และคณะทีมวิจัย ได้เข้าเยี่ยมชมโรงงาน และพื้นที่ปฏิบัติงานของนักวิจัยหลังปริญญาโท ร่วมกับคณะผู้บริหารและพนักงานจากบริษัท แอดแวนเทจ ฟุตแวร์ จำกัด
จากนั้น ดร.ปภาพิต หิรัญสิริสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการ ได้กล่าวถึงภาพรวมโครงการบ่มเพาะนักวิจัยศักยภาพสูงเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ และในครั้งนี้ ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี อาจารย์ที่ปรึกษา นำเสนอภาพรวมของงานวิจัยที่ทำร่วมกับ บริษัท แอดแวนเทจ ฟุตแวร์ จำกัด ในหัวข้อ “การเตรียมแผ่นโฟมและฟิล์มยางฆ่าเชื้อสำหรับผลิตภัณฑ์แผ่นรองเท้า” โดยมี นายเพิ่มพล เสียงดัง นักวิจัยหลังปริญญาโท เป็นผู้นำเสนอความก้าวหน้าของงานวิจัยดังกล่าว ซึ่ง ผศ. ดร. ศิรินันท์ฯ รองผู้อำนวยการ บพค. และ ศ. ดร.ศักดาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ร่วมให้คำชี้แจงและข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้ตามแผน และมีแนวทางการขยายผลต่อยอดงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินโครงการในครั้งนี้ ได้เห็นถึงผลการดำเนินโครงการในภาพรวม และพื้นที่การปฏิบัติงานของนักวิจัยระดับหลังปริญญาโท อีกทั้งได้รับฟังมุมมองการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถของนักศึกษาหลังปริญญาโท อันจะเป็นผลในการยกระดับอุตสาหกรรมฐานชีวภาพที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนของประเทศได้ในอนาคตต่อไป