เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดตัวและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว., นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษา รมว.อว., ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว., รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.), ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ผู้บริหารกระทรวง อว. ผู้บริหารสถาบันการศึกษา และหน่วยงานเอกชน เข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (โยธี)
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า หัวใจของธัชวิทย์คือ การสานพลังความร่วมมือของกลุ่มคนสมรรถนะสูงจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมผลิตผลงานวิจัยขั้นแนวหน้า เพื่อรวบรวมเอาผลงานให้เป็นกลุ่มก้อนองค์ความรู้ที่สำคัญ ถ่ายทอดไปสู่ คลังสมองนักวิทย์ที่เป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ หรือ Brain bank ของประเทศ ที่จะเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญหรือเตรียมการสำหรับอนาคตในรายประเด็นสำคัญ เพื่อส่งต่อให้กับสภานโยบายและรัฐบาล นอกจากนี้ธัชวิทย์ยังเป็นเครือข่ายในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ที่มีทักษะเฉพาะทางและมีสมรรถนะสูง เป็น Brain Power เพื่อขับเคลื่อนกลไกการสร้างผลงานวิจัย เทคโนโลยีขั้นแนวหน้าออกมาอย่างต่อเนื่องและตอบโจทย์ทันต่อความต้องการและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของกระแสโลก โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งสถาบันวิจัย สถาบันอุดมศึกษา เครือข่ายเอกชน/อุตสาหกรรม และสถาบันวิจัยต่างประเทศ
การขับเคลื่อนธัชวิทย์นี้ต้องขอฝาก บพค. ซึ่งจะเป็น Mediator หรือ Catalyst ในการเร่งและประสานงานให้การผลิตคนสมรรถนะสูงกลุ่มนี้ไปถึงฝั่งฝัน ผ่านกลไกการให้ทุนเรียน ทำวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อตอบเป้าหมายของประเทศให้ได้ เรามีเป้าสูงสุดของการพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ สร้างเทคโนโลยีล้ำหน้า ผลงานวิจัยหรือนวัตกรรมสามารถนำไปประยุกต์ใช้หรือต่อยอดทางธุรกิจได้จริง เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ด้าน ศ.ดร.สมปอง กล่าวว่า “ธัชวิทย์” มีกลไกขับเคลื่อนใน 3 มิติ คือ
ทั้งนี้ ในปี 2567 บพค. มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตร Future Graduate Platform หรือบัณฑิตวิทย์สมรรถนะสูง โดยใช้ Non-conventional Future Graduate Platform เพื่อผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความทักษะหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และเจตคติด้านบวก (Brain power) โดยมีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยหรือภาคเอกชน (Demand side) และมหาวิทยาลัย ในรูปแบบ Demand-driven platform เพื่อจัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา (โทและเอก) ร่วมกันเพื่อผลิตหลักสูตรภายใต้ TAS Educational Sandbox โดยหัวข้อวิจัยต้องมาจากสถาบันวิจัยหรือเอกชน และนักศึกษาต้องทำงานวิจัยที่สถาบันวิจัยหรือภาคเอกชนอย่างน้อย 70% และการเรียนภาคทฤษฎีและ soft skill 30% ของระยะเวลาหลักสูตร โดยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนจะเป็นแบบ Co-curriculum, Co-teaching, และ Co-certificate โดย บพค. จะเป็นตัวกลาง (mediatory) คอยประสานและให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ ซึ่งปัจจุบันกำลังสร้างและพัฒนาหลักสูตรมากกว่า 10 หลักสูตรในสาขาที่รองรับการเติบโตและโอกาสทางอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ของประเทศไทย เช่น Quantum technology, Plasma technology, High energy physics, AI/Cloud computing, Future food และ Climate change technology และนักศึกษาสามารถทำวิจัยโดยมี National facility มาตรฐานระดับสากล รวมถึงการเข้าไปฝังตัวทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยในสถาบันวิจัยชั้นนำของโลก “บัณฑิตธัชวิทย์” สำเร็จการศึกษาโดยมีทั้ง Degree certificate และ Skill (non-degree) certificate และต้องได้รับเข้าทำงานในสถาบันวิจัยและภาคเอกชน ซึ่งธัชวิทย์จะเป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งในการสร้างและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง พร้อมขับเคลื่อนเทคโนโลยี นวัตกรรมขั้นแนวหน้าในการพลิกโฉมสังคมและเศรษฐกิจไทยให้หลุดพ้นจากกับดักความเป็นประเทศรายได้ปานกลาง สู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ภายในปี 2580