เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และหากลไกการพัฒนากำลังคนและเครือข่ายนักวิจัยไทยให้เป็นแกนนำหลักในภาคีสำคัญของโลก (Global League) ณ ห้องบุษบา โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาและถอดบทเรียนรูปแบบการพัฒนานักวิจัยไทย เพื่อออกแบบกลไกการพัฒนานักวิจัยไทยให้เป็นผู้นำ/สมาชิก ในภาคีสำคัญของโลก รวมทั้งศึกษาแนวทางในการสนับสนุนเครือข่ายนักวิจัยไทยและนักวิจัยไทยให้มีบทบาทในภาคีสำคัญของโลก โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ในการกล่าวต้อนรับและเปิดการประชุม
โอกาสนี้ ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ในนามประธานในพิธีเปิดงานฯ กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายด้าน Carbon Neutrality ในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065 ของประเทศไทยนั้น มีความท้าทายอย่างมากและมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยผู้มีความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การลดปริมาณการปลดปล่อยและการกักเก็บ GHG ของประเทศ โดย บพค. มีเป้าหมายในการสนับสนุนการสร้างกำลังคนและงานวิจัยขั้นแนวหน้า และมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับเครือข่าย และ stake holder ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนให้ถึงเป้าหมาย
โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ บพค. ได้กล่าวชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมและแนวทางในการระดมสมองเพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และหากลไกการพัฒนากำลังคนและเครือข่ายนักวิจัยไทย โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มุ่งหวังให้เกิดการยกระดับเครือข่ายการวิจัยและพัฒนากลไกเพื่อให้บุคลากรการวิจัยของไทยได้เข้าร่วมในภาคีเครือข่ายระดับนานาชาติที่มีความสำคัญ อีกทั้งเพิ่มบทบาทเชิงรุกของไทยในเวทีโลก ผ่านการเข้าร่วมภาคีเครือข่ายชั้นนำระดับนานาชาติ และการพัฒนากลไกของภาคีเครือข่ายที่จะรองรับและขับเคลื่อนความร่วมมือเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพ ตลอดจนแลกเปลี่ยนแนวคิด เป้าประสงค์ ทรัพยากร และเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่วาระที่มีร่วมกัน
บพค. ได้รับเกียรติจากกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาความเชี่ยวชาญร่วมให้ข้อคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละท่านจากบทบาทในเวทีโลก พร้อมเสนอแนะกลไกการพัฒนากำลังคนและเครือข่ายนักวิจัยไทยให้มีบทบาทในเวทีโลก (Global League) ผ่านกิจกรรมระดมสมองใน 5 ประเด็นหลัก ดังนี้
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ มีข้อเสนอแนะที่สำคัญว่า การพัฒนาบุคลากรไทยควรดำเนินการในระยะยาว มีการเชื่อมและต่อยอดการพัฒนากำลังคนตั้งแต่ระดับเยาวชน เน้นการพัฒนาทั้ง International Social Skill (Leadership Skill, Critical Thinking, Communication Skill) และ Academic Skill รวมถึงมีเวทีในการผลักดันให้นักวิจัยไทยมีโอกาสในการสร้างเครือข่ายร่วมกับนานาชาติ โดยเชิญบุคลากรที่มีชื่อเสียงหรือ มีบทบาทสำคัญในภาคีของโลกมาแบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ
อย่างไรก็ตามเป้าหมายสูงสุดของการสนับสนุนทุนในการพัฒนานักวิจัยไทยให้มีบทบาทสำคัญในเวทีของโลก คือการเข้าถึงทรัพยากรและ ข้อมูลจากนานาชาติ รวมถึงมีส่วนในการตัดสินใจสำคัญ ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
สำหรับกิจกรรมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และหากลไกการพัฒนากำลังคนและเครือข่ายนักวิจัยไทยให้เป็นแกนนำหลักในภาคีสำคัญของโลก (Global League) ในครั้งนี้ บพค. ได้รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์และสามารถนำมาพัฒนาเป็นแนวทางในการสนับสนุนเครือข่ายนักวิจัยไทยให้มีบทบาทในภาคีสำคัญของโลกต่อไป