เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. และทีมนักวิเคราะห์อาวุโส บพค. เข้าร่วมกิจกรรมในงาน National Coding Day 2023 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมนานาชาติไบเทค (BITEC) เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2566 โดยสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทยร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์การทำงาน สร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงสร้างโอกาสในการเข้าทำงานของเยาวชนและต่อยอดพัฒนาธุรกิจทางด้านโค้ดดิ้ง ปัญญาประดิษฐ์ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ได้เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Let’s Code Thailand x Coding Era by PMU-B” โดยได้บรรยายถึงบทบาทและภารกิจของ บพค. ในการดำเนินงานตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2566-2570 ยุทธศาสตร์ที่ 3 และ 4 กล่าวคือ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมขั้นแนวหน้าเพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต และการพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งการพัฒนาทักษะด้าน Coding และ AI นั้นเป็นรากฐานสำคัญในการผลิตเทคโนโลยีล้ำยุคสมัยใหม่ที่จะขับเคลื่อนภาคธุรกิจไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในระดับสากล สำหรับแนวทางของ บพค. นั้นก็ได้เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้จริงในระดับปฏิบัติการ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เยาวชนได้เข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ตามแผนงานที่ บพค. และหน่วยงานภาคเอกชนร่วมกันวางไว้ เช่น Code Combat และ Let’s Code Thailand เพื่อปูทางสู่การเป็นมืออาชีพและผู้มีสมรรถนะสูง (Talent pool) ก่อนจะเข้าร่วมงานกับทางบริษัทที่คาดหวังต่อไป
นอกจากนี้ ทาง บพค. ยังได้ร่วมงานกับเหล่านักวิจัยในระดับภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร) ในการจัดโครงการบ่มเพาะเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจด้าน Coding AI และวิทยาการหุ่นยนต์ เพื่อเพิ่มกำลังคนของประเทศทางด้านนี้ ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ บพค. และนักวิจัยทั้ง 5 ทีมได้ร่วมเปิดตัวในการจัดการประชุมและแสดงนิทรรศการในครั้งนี้อีกด้วย
ก่อนจบการบรรยายพิเศษ ผู้อำนวยการ บพค. ยังได้กล่าวเชิญชวนเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง รวมถึงแขกผู้เข้าร่วมงานให้มาร่วมกิจกรรมในงาน Coding Era : Next Wave of Thailand’s Education/ยุคโค้ดดิ้ง : คลื่นลูกใหม่แห่งวงการศึกษาไทย ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งร่วมกันจัดงานโดย บพค. และบริษัท โค้ดคอมแบท (Code Combat Inc.) เพื่อเป็นมหกรรมแสดงนิทรรศการงานวิจัยด้าน Coding AI และวิทยาการหุ่นยนต์ ตลอดจนเป็นการประชุมวิชาการที่รวบรวมผู้มีทักษะโค้ดดิ้งขั้นสูงมาแบ่งปันประสบการณ์ และเชิญชวนเยาวชนมาเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะผู้มีทักษะโค้ดดิ้งสมรรถนะสูงกับเหล่านักวิจัยทั่วประเทศ