บพค. ร่วมกับ มจธ.-ภาคีฯ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย จัดประชุมสร้างองค์ความรู้การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่ NET ZERO EMISSION

บพค. ร่วมกับภาคีเครือข่ายอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยและ มจธ. จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในภารกิจการลดการปลดปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ สำหรับผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโครงการภาคีความร่วมมือด้านการพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2566) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้กรอบความร่วมมือ มจธ.-ภาคีฯ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยสู่ NET ZERO EMISSION สำหรับผู้บริหาร ณ อาคาร Knowledge Xchange for Innovation (KX) กรุงเทพฯ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในเหตุผลความจำเป็นในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตปศุสัตว์ไทย

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ได้บรรยายในหัวข้อ “บทบาทของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กับพันธกิจการส่งเสริมงานวิจัยด้าน Net zero ของประเทศไทย” โดยได้เน้นย้ำภารกิจและบทบาทของ บพค. ในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสร้างองค์ความรู้และเพิ่มอัตรากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการผลักดันให้มีความร่วมมือเป็นเครือข่าย Consortium เฉพาะทางด้านการลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ โดยเป้าหมายการกักเก็บคาร์บอนเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดนั้น แบ่งออกเป็น 2 ภาคส่วนใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) ภาคอุตสาหกรรม 2) แหล่งกักเก็บตามธรรมชาติ เช่น ทะเล ป่าไม้ แหล่งน้ำจืด พื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นต้น หากโครงการดำเนินงานอย่างจริงจังและเป็นภาคีที่เข้มแข็ง ร่วมกันผลักดันให้ภาคประชาสังคมได้รับรู้เพิ่มมากขึ้น ยิ่งจะเป็นการตอกย้ำเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ระดับสูงของโครงการ ตั้งแต่การมี Carbon verifier ไปจนถึงการเป็นฮับของเทคโนโลยีด้านการลดปริมาณคาร์บอนให้เป็นศูนย์หรือ Net zero technology hub ตามที่ได้กำหนดไว้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศไทย
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. และคณะนักวิเคราะห์อาวุโส บพค. ยังได้ร่วมรับฟังการบรรยายและนำเสนอข้อคิดเห็นในประเด็นภารกิจการลดการปลดปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยให้เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

ด้าน คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้แสดงปาฐกถาในหัวข้อ “วิกฤตและโอกาส/ความสำคัญของการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรและปศุสัตว์ของไทย” เพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการลงมือทำและบูรณาการทำให้สำเร็จตามแผนยุทธศาสตร์ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น
ส่วนแนวทางและนโยบายการพัฒนาแผนปฏิบัติการของภาครัฐได้ถูกนำเสนอโดยผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทางภาควิชาการได้นำเสนอเทคโนโลยี เครื่องมือ มาตรฐานและแนวคิดที่อุตสาหกรรมเกษตรนำมาใช้ในการลดก๊าซเรือนกระจก กล่าวโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อำนาจ ชิดไธสง รองผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มจธ. ก่อนจะกล่าวปิดท้ายด้วยการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย โดย ศาสตราจารย์ ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มจธ. และในที่ประชุมได้สรุปถึงความสำคัญในการผลักดัน ส่งเสริมและสนับสนุนแนวทางให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกันให้สำเร็จอย่างแน่นอน