เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.รินา ภัทรมานนท์ และ คุณจตุรภรณ์ โชคภูเขียว ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ บพค. และคณะ ได้เข้าร่วมโครงการสัมมนาวิชาการวิจัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีงบประมาณ 2566 ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง และนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยสารคาม จังหวัดมหาสารคาม โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และศาสตราจารย์ ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิจัย และนวัตกรรม ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ได้ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “นโยบายและแนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยของ บพค.” โดยนำเสนอบทบาทของ บพค. การสนับสนุนทุนวิจัย การขับเคลื่อนงานวิจัยขั้นแนวหน้า และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัยในรูปแบบ Consortium โดยทาง บพค. ได้สนับสนุนทุนวิจัยที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ปี 2566-2570 ในยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศ และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ให้เป็นฐานในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแบบก้าวกระโดดและยั่งยืน ทั้งนี้ ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะระหว่างคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อนำไปใช้ในการต่อยอดและพัฒนางานวิจัยให้ตอบโจทย์ประเทศต่อไป
จากนั้น คณะ บพค. ได้เดินทางไปบรรยายและนำเสนอหลักเกณฑ์การสนับสนุนทุนวิจัยของ บพค. ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นรินทร์ จันทร์ศรี คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ คณาจารย์ และนักวิจัย ให้การต้อนรับ
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของความเชื่อมโยงด้านเภสัชวิทยา ซึ่งถือเป็นแกนหลักของสาธารณสุข ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้เป็นสถาบันการศึกษาที่รองรับความต้องการทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการผลักดันให้มีเภสัชชุมชน ที่จะส่งผลให้สามารถขับเคลื่อนในเชิงเวชศาสตร์ชุมชนได้เป็นอย่างดี ตลอดจนการผลักดันสู่การเป็น Medical Hub ศูนย์การรักษาสมุนไพรโดยเฉพาะในระดับอาเซียน
ต่อมา คณะ บพค. ยังได้รับฟังการนำเสนอโจทย์วิจัย โดยนักวิจัยของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในเรื่อง “Traditional medicine meets Artificial Intelligence” ที่มีการประยุกต์นำ AI เข้ามาช่วยในด้านของ Data และจัดเรียงข้อมูลเป็นเซ็ตอัลกอรึทึม ประกอบด้วย ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อพืช ชื่อสาระสำคัญ โครงสร้างสารออกฤทธิ์ และฤทธิ์ทางเภสัชวิยา โดยนำ AI เข้ามา cut across เชื่อมโยงกับด้านเภสัชวิทยาให้สามารถขับเคลื่อนแบบก้าวกระโดดในอนาคตต่อไป