⭐ บพค. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ “นำร่องเพื่อทดสอบระบบสนับสนุนการวิจัยสังคมศาสตร์”

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ผศ. ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ บพค. และ ผศ.ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ และนักวิเคราะห์โครงการ บพค. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ “นำร่องเพื่อทดสอบระบบสนับสนุนการวิจัยสังคมศาสตร์” โดยมี รศ.ดร.นฤมล อรุโณทัย เป็นหัวหน้าโครงการ ณ ห้องประชุมจั๊คส์ อัมโยต์ สถาบันวิจัยสังคม ชั้น 4 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โครงการ “นำร่องเพื่อทดสอบระบบสนับสนุนการวิจัยสังคมศาสตร์” ได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้แผนงานการยกระดับคุณภาพและสมรรถภาพของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ โปรแกรมที่ 5 ส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้าและการวิจัยพื้นฐานที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ประจำปี 2564 โดยมุ่งเน้นการทดลองที่เป็นการนำร่องให้เกิดความเชื่อมโยงของตัวผู้กระทำต่าง ๆ ในระบบจนกลายเป็น “ระบบนวัตกรรม” เดียวกัน ซึ่งเชื่อมโยงตั้งแต่กระบวนการผลิตความรู้ไปจนถึงการใช้ประโยชน์จากความรู้ มีโครงสร้างพื้นฐานความรู้ที่พอเพียง และมีการชี้วัดประเมินผลที่เหมาะสม จากการร่วมมือกันของประชาคมสังคมศาสตร์ โดยสร้างบทสนทนาให้เกิดการสร้างประชาคมที่แน่นแฟ้นขึ้น และมีการสำรวจประเด็นย่อยที่เน้นมุมมองเชิงวิพากษ์ต่อระบบวิจัยและนวัตกรรมในทางวัฒนธรรมการบริหารจัดการ เพื่อเสริมความเข้าใจระบบ อีกทั้งยังจัดเวทีที่จะก่อให้เกิดบทสนทนาต่อกันระหว่างประชาคมวิชาการกับผู้จัดทำนโยบายในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)

โอกาสนี้ ผศ.ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ บพค. ได้กล่าวสรุปผลการติดตามความก้าวหน้าโครงการ ด้าน ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช ศ.ดร.ศักดา ดาดวง รศ.ดร.เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์ และ รศ.ดร.ชาตรี ฝ่ายคำตา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนากำลังคน ได้ร่วมแสดงความเห็นต่อผลการดำเนินโครงการวิจัยและการต่อยอดงานวิจัยซึ่งมีลักษณะเป็นนวัตกรรมทางสังคม รวมถึงให้ข้อเสนอแนะต่อการสื่อสารและขยายความรู้สู่สาธารณะด้วยการเผยแพร่ผลงานวิจัยจากโครงการย่อยต่างๆ ให้เกิดประโยชน์และเชื่อมต่อกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป