วันนี้ (23 ธันวาคม 2565) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ผศ. ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วย ผศ. ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ และ ดร.ธิดารัตน์ โกมลวานิช ผู้ทรงคุณวุฒิจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) รวมทั้งนักวิเคราะห์โครงการ บพค. ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการที่ได้รับสนับสนุนทุน ณ อาคารพัฒนาและควบคุมระบบดาวเทียม (Space Centrarium) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
โอกาสนี้ ดร.สุวัฒน์ ศรีเศวต หัวหน้าโครงการ “โครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ควบคุมการปฏิบัติงานของดาวเทียมขนาดเล็ก (Flight Software)” โครงการย่อยในแผนงานภาคีความร่วมมืออวกาศไทยเพื่อการพัฒนาดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ ภายใต้แผนงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมอวกาศ โปรแกรมที่ 5 ส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้า และการวิจัยขั้นพื้นฐานที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ประจำปีงบประมาณ 2563 กล่าวต้อนรับคณะ บพค. และนำเสนอภาพรวมของงานวิจัยเพื่อพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ควบคุมการปฏิบัติการดาวเทียมขนาดเล็ก (Onboard flight software for small satellite) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพค. โดยซอฟต์แวร์นี้ใช้กับดาวเทียมขนาดเล็กที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100-500 กิโลกรัม ทั้งนี้ ทางโครงการยังมีโปรแกรมการสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงที่มีทักษะด้านการพัฒนา Flight Software ของดาวเทียม ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศ ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการผลักดันงานวิจัยขั้นแนวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศ นอกจากนี้ ดร.สุวัฒน์ฯ ยังได้กล่าวถึงบทบาทพันธกิจของ GISTDA ภายใน Astrodynamics Research Laboratory (AstroLab) ศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศด้านกลศาสตร์วงโคจรของประเทศไทยแบบครบวงจร ที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอวกาศ ได้แก่ การวิจัยและศึกษาพลวัตของการบินในอวกาศ (Space flight dynamics) การวิจัยที่มุ่งเน้นความปลอดภัยและบรรเทาภัยจากขยะอวกาศหรืออุกกาบาตที่กระทบต่อมวลมนุษยชาติ (Space debris and asteroid mitigation) การศึกษาวิจัยทางด้านพยากรณ์สภาพอวกาศ (Space weather forecast) เป็นต้น
จากนั้น คณะ บพค. ได้เข้าเยี่ยมชม ติดตามความก้าวหน้าของโครงการ “การพัฒนากำลังคนระดับสูงในอุตสาหกรรม Aerospace โดยใช้เทคโนโลยี Augmented Reality (AR)” โดยมี ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล เป็นหัวหน้าโครงการ โครงการนี้อยู่ภายใต้แผนงานการผลิตกำลังคนระดับสูงรองรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และระบบเศรษฐกิจสังคมของประเทศ โปรแกรมที่ 2 การพัฒนากำลังคนระดับสูงรองรับ EEC และระบบเศรษฐกิจสังคมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2564 วัตถุประสงค์ของโครงการนี้เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาและผลิตบุคลากรให้มีความพร้อมและสามารถต่อยอดความรู้เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม Aerospace โดยนำเอาเทคโนโลยี AR -Augmented reality มาใช้ในการพัฒนาและฝึกฝนทักษะและอบรมบุคลากร เพื่อการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน โดยมีเป้าหมายการพัฒนากำลังคนจำนวน 200 คน ในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่เป็นบุคลากรใหม่ (Young Engineer) ในสถานศึกษา 5 แห่ง ที่ตั้งอยู่ ณ พื้นที่ EEC ได้แก่ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา วิทยาลัยเทคโนโลยีแหลมฉบัง วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา
สำหรับโครงการนี้มีบทเรียนมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจการทำงานของเครื่องจักร CNC การเตรียมพร้อมด้านความปลอดภัย การเลือกชนิดอุปกรณ์ การผลิตชิ้นงาน และการตรวจสอบวัดคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยทางโครงการได้รับความร่วมมือกับบริษัทผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน 2 แห่ง คือ บริษัท Lenso Aerospace จำกัด และบริษัท Senior Aerospace (Thailand) จากความก้าวหน้าการดำเนินโครงการพบว่า เทคโนโลยี AR มีส่วนช่วยในการกระตุ้นการเรียนรู้และการจดจำของผู้เรียน สามารถขยายการจัดอบรมในรูปแบบ AR Training ร่วมกับเนื้อหาที่มีความซับซ้อนได้ ผู้เรียนมีความเข้าใจเนื้อหา ทฤษฎี ได้ในเวลาที่จำกัด อีกทั้งยังสามารถช่วยลดแรงงาน กระชับเวลา ในการปฏิบัติงานได้อีกด้วย
ต่อมา คณะ บพค. มีโอกาสได้เข้าเยี่ยมชมดาวเทียม THEOS-2A ณ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ (National Assembly Integration and Test: AIT) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรขนาดเล็กดวงแรกที่มีมาตรฐานระดับ Industrial grade ที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาโดยวิศวกรดาวเทียมของประเทศไทย โดยมีนักวิจัยและเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานและพันธกิจของดาวเทียม THEOS-2 และ THEOS-2A ตลอดระยะเวลาการเยี่ยมชม