ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้เข้าร่วมพิธีปฐมนิเทศผู้เข้าร่วมโครงการ Super AI Engineer Season 2 ซึ่งจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้อง 402 อาคารเรียนรวม (SC3) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในโอกาสนี้ ผู้อำนวยการ บพค. ได้ร่วมให้โอวาทแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ร่วมกับผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน อาทิเช่น รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศาสตราจารย์ ดร. พฤทธา ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร. ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ไทยและหัวหน้าโครงการ เป็นผู้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการ และมี ดร. เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นผู้ปฐมนิเทศและชี้แจงแนวทางปฏิบัติในระหว่างเข้าร่วมกับโครงการ ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการและเข้าร่วมปฐมนิเทศ จำนวนทั้งสิ้น 186 คน ซึ่งเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครมากกว่า 4,000 คน ทั้วประเทศไทย
ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของ บพค. พร้อมกับให้โอวาทแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ โดยทาง บพค. มีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะต้องเร่งสร้างและสนับสนุนการพัฒนากำลังคน รวมไปถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มคนในทุกระดับและทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ระดับนักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงนักวิจัยระดับสูง เพื่อให้เกิดการพัฒนากำลังคน พัฒนา skill ต่างๆ เพื่อให้สามารถยกระดับงานวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี องค์ความรู้ขั้นสูงต่างๆ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้ไปพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้หลุดจากประเทศรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศที่รายได้สูงต่อไปในภายภาคหน้า โดยเฉพาะในด้านปัญญาประดิษฐ์ ที่ในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านไปไปอย่างรวดเร็ว ดังที่จะเห็นได้จากที่หลายๆ ประเทศเริ่มมีการตื่นตัว และเริ่มพัฒนา ecosystem และ infrastructure เพื่อรองรับการเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ในอนาคตข้างหน้านี้ ดังนั้น จึงเป็นคำถามใหญ่ที่เราต้องตอบคำถามให้ได้ว่า แล้วประเทศไทยเราได้มีการวางแผนในการพัฒนากำลังคน ที่จะไปสร้างนวัตกรรด้านปัญญาประดิษญ์ เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคตไว้อย่างไร ดังนั้นแล้วโครงการนี้ซึ่งเป็นโครงการที่ทาง บพค. ให้งบประมาณสนับสนุน ทาง บพค. จึงอยากให้โครงการนี้เป็นตัวจุดประกายให้เกิดการพัฒนากำลังคนด้าน AI เพื่อป้อนกลุ่มคนเหล่านี้เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน รวมไปถึงการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ไปช่วยส่งเสริมศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต ที่เป็นฝีมือการประดิษฐ์คิดค้นจากมันสมองของคนไทยต่อไปในอนาคต
Super AI Engineer Season 2 เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนานวัตกร/วิศวกร/นักวิจัย/วิสาหกิจเริ่มต้นด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็น 1 โนโครงการของชุดโครงการปัญญาประดิษญ์สำหรับสาธารณชน ที่ บพค. ให้การสนับสนุนงบประมาณ โดยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการเสริมศักยภาพและพัฒนาทรัพยากรบุคคล (HR Capacities Building) ด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย เพื่อพัฒนากลุ่มคนเหล่านี้ไปสู่การเป็นนวัตกร วิศวกร นักวิจัย และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยกิจกรรมของโครงการนี้จะประกอบไปด้วย การคัดเลือกผู้ที่มีความมุ่งมั่น มีความสนใจ และมีศักยภาพความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ และนำเข้าสู่การอบรมเชิงปฏิบัติการโดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ นักวิเคราะห์และวางแผนระบบ ผู้มีความรอบรู้ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มาให้ความรู้และแนวทางในการต่อยอดไปสู่การใช้จริง โดยในระหว่างการอบรมผู้เข้าร่วมอบรมจะได้โจทย์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมแข่งขันเพื่อพัฒนาระบบที่สามารถแก้ปัญหาจริงด้วยปัญญาประดิษฐ์ หลังจากนั้นทางโครงการจะมีการคัดเลือกผู้มีศักยภาพโดดเด่นเข้าสู่การปฏิบัติงานจริงกับผู้ประกอบการหรือศูนย์วิจัย โดยหลังจากเสร็จสิ้นโครงการแล้ว จะมีการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นผู้สอนหรือครูฝึกรุ่นใหม่ในการพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ในรุ่นต่อๆ ไป ทั้งนี้จากความสำเร็จของโครงการในปีที่ 1 ทำให้ใรปีที่ 2 นี้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่า 4,000 คน และทางโครงการได้ทำการคัดเลือกผู้มีศักยภาพเข้าสู่การอบรม จำนวน 186 คน โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการฝึกอบรม ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถประกาศผลและมอบรางวัลสุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ได้ ภายในเดือนสิงหาคม 2565
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ https://superai.aiat.or.th/ หรือ E-mail : [email protected]