บพค. ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนสำหรับระบบการทวนสอบก๊าซเรือนกระจกในไทยและสากล ตอบโจทย์เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ

วันนี้ (23 ธันวาคม 2565) ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) พร้อมด้วย ผศ. ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ (รองผู้อำนวยการฯ) และบุคลากรเจ้าหน้าที่ บพค. เข้าร่วมงานเปิด “โครงการพัฒนากำลังคนสำหรับระบบการทวนสอบก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยและระดับสากล เพื่อตอบสนองเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย” ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ จัดโดย ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านพลังงานเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โอกาสนี้ ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ประธานในพิธีได้กล่าวเปิดงานว่า รัฐบาลไทยได้มีการประกาศตั้งเป้าหมายบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในหรือก่อนหน้าปี 2065 ในการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) นั้น แต่การที่จะตั้งเป้าหมายการลดให้ได้ผลสำเร็จ องค์กรจะต้องมีการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรตนเองเพื่อตั้งเป็นปีฐานที่ใช้ในการอ้างอิงการตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก และเพื่อให้การตั้งเป้าหมายมีความน่าเชื่อถือ มีความแม่นยำและมีความโปร่งใสในการประเมิน โดยการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรจะต้องได้รับการทวนสอบจากหน่วยงานภายนอก เพื่อเป็นการยืนยันว่าปริมาณการปล่อยหรือการลดก๊าซเรือนกระจกขององค์กรมีความถูกต้อง สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งหน่วยงานรับรองการรายงานการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กรหรือโครงการ มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องด้วยทรัพยากรบุคคลในประเทศไทยยังขาดคุณสมบัติและโอกาสที่จะสามารถพัฒนาตนเองให้ไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานได้ และขาดแคลนหน่วยงานทวนสอบปริมาณก๊าซเรือนกระจก ต้องอาศัยหน่วยงานทวนสอบที่ต่างชาติ ทำให้องค์กรในประเทศไทยที่ต้องการของการรับรองมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการขอการรับรองจากบริษัทต่างชาติ ซึ่งอาจจะส่งผลกับการตัดสินใจของผู้ประกอบการที่จัดทำกิจกรรมรายงานก๊าซเรือนขององค์กรได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนากำลังคนในด้านการทวนสอบก๊าซเรือนกระจก โดยมีหลักสูตรพัฒนาทักษะด้านการประเมินรายงานก๊าซเรือนกระจกให้มีคุณสมบัติที่พร้อมเป็นผู้ทวนสอบได้ อีกทั้งเพิ่มหน่วยงานในประเทศไทยให้สามารถรับรองระบบเพื่อรับรองรายงานก๊าซเรือนกระจกที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งจะสามารถขยายตลาดไปให้กับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนได้อีกด้วย

สำหรับโครงการฯ นี้ มุ่งพัฒนา 4 หลักสูตร ประกอบด้วย

  1. หลักสูตรพื้นฐานการประเมินและทวนสอบภายในโปรแกรมก๊าซเรือนกระจก
  2. หลักสูตรอบรมผู้ทวนสอบ
  3. หลักสูตรรองรับระบบงาน
  4. หลักสูตรข้อกำหนดมาตรฐานสากล

โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านการทวนสอบก๊าซเรือนกระจกให้มีคุณสมบัติพร้อมเป็นผู้ทวนสอบ รุ่นที่ 1 ในปี 2565 จำนวน 100 คน และในรุ่นที่ 2 ในปี 2566 จำนวน 100 คน โดยในขณะนี้มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว ที่มาจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและอุตสาหกรรม รวมจำนวนกว่า 300 คน