บพค. ร่วมกิจกรรมสร้างการรับรู้แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ มรภ. กลุ่มภาคเหนือ

ระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2565 ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้ร่วมงานกิจกรรมสร้างการรับรู้แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดข้อเสนอโครงการริเริ่มสำคัญระดับภูมิภาค มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคเหนือ ณ โรงแรมแสนโฮเทล จังหวัดเชียงราย จัดโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งงานนี้เป็นการรวมพลังของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เพื่อสร้างผลกระทบในวงกว้างที่ตอบโจทย์สำคัญของประเทศ ด้วยการวางแผนโครงการริเริ่มของภูมิภาค ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยดำเนินกิจกรรมค้นหาเป้าหมายร่วมและข้อเสนอริเริ่มสำคัญของภูมิภาค พร้อมแนวทางการจัดทำโครงการริเริ่ม (initiative program) ภายใต้ โครงการ Quick Win: Community-based Innovation Platform: Smart Agriculture/Innovative food ในโครงการท้าทาย 2 ประเด็น คือ

  1. ระเบียงเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากเจ้าพระยาสู่ล้านนาวิถี
  2. RU-North for Smart Silver Society (RUN-SSS) ราชภัฏร่วมใจเพื่อผู้สูงวัยยั่งยืน

ทั้งนี้ได้รับกียรติจาก พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ดร.นงรัตน์ อิสโร เลขานุการองคมนตรี นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. และ ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. เข้าร่วมกิจกรรมและให้ข้อเสนอแนะ ตลอดจนให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ มรภ.

โอกาสนี้ ดร.วรจิตต์ ได้มีการบรรยายในหัวข้อ “รูปแบบและแนวทางการให้ทุนแบบ Co-creation เพื่อการพัฒนาคนและงานวิจัยขั้นแนวหน้า” โดยรูปแบบการให้ทุนของ บพค. จะมุ่งเน้นด้านการพัฒนาองค์ความรู้ และ Brainpower รวมทั้งเสนอรูปแบบและการประกาศรับข้อเสนอโครงการประจำปี 2566 ในยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุคเพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันวิจัยให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม