บพค. ร่วมกับ สป.อว. และทีมเจเนเรชั่น พัฒนากำลังคนมุ่งตอบโจทย์ประเทศในสถานการณ์วิกฤติ ในรูปแบบการพัฒนาทักษะการทำงานระยะสั้นแบบเข้มข้น (Bootcamp)

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ “พัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานตามความต้องการของประเทศ โดย GenNX Model” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนงานแผนงานการยกระดับระบบฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะสำหรับบุคลากรวัยทำงาน (Re-skill/ Up-skill) โปรแกรมที่ 3 ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต ประจำปีงบประมาณ 2564 ณ บริษัทเจเนเรชั่น ยูเอมพลอยด์เอ็ด วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด นำโดย ผศ.ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รศ.ดร.อาชัญญา รัตนอุบล ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว ศ.ดร.ศักดา ดาดวง และนักวิเคราะห์ บพค. โดยมี คุณพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้าโครงการวิจัย และ คุณปุณยนุช พัธโนทัย CEO บริษัท เจเนเรชั่น ยูเอมพลอยด์เอ็ด วิสาหกิจเพื่อสังคมประเทศไทย จำกัด ให้การต้อนรับ และนำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ

GenNX Model เป็นตัวอย่างนำร่องความร่วมมือของการทำงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างทางทักษะของคนที่หางาน ให้สามารถเปลี่ยนสายงานเปิดโอกาสใหม่ผ่านการ upskill เสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต จุดสำคัญคือการปรับโจทย์ให้สถาบันการศึกษามีการทำงานที่ใกล้ชิดกับภาคเอกชน สะท้อนความต้องการของตลาดและสายอาชีพที่เป็นที่ต้องการโดยสามารถผลิตกำลังคนที่เชื่อมต่อเข้าสู่โลกงานทำงานได้ในระยะเวลาอันสั้นผ่าน “Bootcamp” ที่มุ่งสร้างคนเข้าสู่อุตสาหกรรมและสาขาการทำงานที่มีการเติบโตสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างทักษะพร้อมประสบการณ์ลงมือทำจริง มากกว่าทฤษฎีเพื่อตอบโจทย์ผู้จ้างงานผ่านโมเดลการ 7 ขั้นตอนของ Generation เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานแบบเข้มข้นและตรงกับความต้องการจ้างงานให้แก่ ผู้ว่างงาน/นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาให้มีความพร้อมต่อการถูกจ้างงานและบุคลากรในสถานประกอบการเพื่อยกระดับทักษะการทำงานที่ตรงกับความต้องการทักษะแรงงานของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเริ่มนำร่องในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และ Healthcare

ทั้งนี้ ความก้าวหน้าในภาพรวมของกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล พบว่าอาชีพที่เป็นที่ต้องการในตลาดคือ อาชีพนักพัฒนาซอฟแวร์ (Junior software developer) ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 155 คน (จำนวน 2- cohort) โดยผู้ที่สำเร็จการศึกษาและได้งานทำแล้วในรุ่นที่ 1 คิดเป็น 60% สำหรับกลุ่ม Healthcare จะเริ่มดำเนินการพัฒนาผู้เรียนในสายงานผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Senior caregiver) ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ ยังได้รับฟังคำสะท้อนและข้อคิดเห็น จากตัวแทนของผู้เกี่ยวข้องในการสร้างทักษะบุคลากร GenNX Model ประกอบด้วย บริษัทที่รับผู้เรียนเข้าทำงาน (Thoughtworks Thailand) สถาบันที่ทำการสอน (Skooldio) สถาบันพันธมิตรในการถอดองค์ความรู้แบบเต็มรูปแบบ (สถาบัน KX) สถาบันที่สนใจเข้ามาถอดองค์ความรู้ผ่านการสังเกตการณ์ (วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) และตัวแทนจากผู้เรียนรุ่นที่ 1 ซึ่งทุกภาคส่วนที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะใหม่ และแนวทางการพัฒนากำลังคนของประเทศต่อไป