อว. หารือเกาหลีใต้ ร่วมสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงและสร้างงานวิจัยขั้นแนวหน้า “เทคโนฯ อวกาศ – การแพทย์ -นิวคลียร์ – ลดโลกร้อน”

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยผู้บริหารจากกระทรวง อว. ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) และ ดร.วิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซล เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับ นายลีจองโฮ (Mr. Lee Jong Ho) รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี โดยเมื่อเริ่มการเจรจา ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก ได้กล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุโศกนาฏกรรมที่อิแทวอน กรุงโซล และขอแสดงความไว้อาลัยต่อการสูญเสียแก่สาธารณรัฐเกาหลี มายังนายลีจองโฮมา ณ โอกาสนี้

จากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในการสร้างร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเน้นการสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงและการสร้างงานวิจัยขั้นแนวหน้า หลังการหารือ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เปิดเผยว่า ตนและนายลีจองโฮ ได้ตกลงร่วมกันในการสร้างร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเน้นการสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงและการสร้างงานวิจัยขั้นแนวหน้า ใน 5 ประเด็นสำคัญ คือ

  1. งานทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยจะเน้นความร่วมมือทางด้านการพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจและระบบนิเทศทางด้านอวกาศ ร่วมกันระหว่างประเทศไทยและเกาหลีใต้
  2. การเจรจาหารือเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างไทยและเกาหลีใต้ถึงเรื่องการสร้างสถานีปล่อยยานอวกาศ (Spaceport) โดยประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการสร้างและมีความร่วมมือร่วมกันต่อไป
  3. งานทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเกี่ยวกับทางด้านการแพทย์ ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นทางด้านการบริการการแพทย์เป็นเลิศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศเกาหลีใต้มีความโดดเด่นทางด้านแพลตฟอร์มของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยประเทศไทยและเกาหลีใต้ สามารถที่จะมีความร่วมมือกันได้เป็นอย่างดีในอนาคต
  4. งานทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เน้นการสร้างองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชน เพื่อร่วมมือกันสร้างและใช้ประโยชน์ จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ
  5. งานทางด้านการจัดการกับปัญหาภาวะเรือนกระจก เพื่อลดภาวะโลกร้อน โดยเน้นการพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า เพื่อที่จะมาแก้ไขปัญหา และในอนาคตไทยและเกาหลีใต้ ยังมีแผนในการสร้างความร่วมมือกันต่อไป

“ประเทศไทยมุ่งหวังที่จะเป็นสะพานเชื่อมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไทยและเกาหลีใต้ โดย รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศตอบรับถึงความพร้อมของสาธารณรัฐเกาหลีที่จะร่วมมือในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป” รมว.อว.กล่าว