บพค. ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการ จำนวน 2 โครงการ ณ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล และศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) วังจันทร์วัลเล่ย์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 บพค. นำโดย ผศ.ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรม รวมถึงนักวิเคราะห์โครงการ ร่วมลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินโครงการภายใต้แผนงานข้อริเริ่มการวิจัยขั้นแนวหน้าประเทศไทย โปรแกรม 5 ส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้า และการวิจัยพื้นฐานที่ประเทศไทยมีศักยภาพ และแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยที่สำคัญ โปรแกรม 6 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยที่สำคัญ ดังนี้
โอกาสนี้ ผศ. ดร.ศิรินันท์ฯ ได้กล่าวชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการติดตามโครงการและการบริหารจัดการโครงการวิจัยที่ได้รับทุนจาก บพค. โดยมี ศ. ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี ให้การต้อนรับ บพค. และคณะผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมทั้งนำเสนอบรรยายพิเศษ “ภาพรวมของสถาบันวิทยสิริเมธี” รวมถึงความก้าวหน้าทางด้าน Frontier Research ของประเทศไทยและนานาชาติ
จากนั้น บพค. และคณะผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอการดำเนินโครงการ เรื่อง “การทำวิศวกรรมเอนไซม์เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีตรวจวัดระบบใหม่” โดย ศ. ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น หัวหน้าโครงการ และคณะผู้ร่วมวิจัย ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ กรอบการวิจัย และผลการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยรายงานผลการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ Pesticide and toxicant transformation, Luciferin synthesis, Bio-detection ซึ่งโครงการสามารถพัฒนาและค้นพบสารเรืองแสงชนิดใหม่ที่มีความไวสูงและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการตรวจวัดสารกำจัดศัตรูพืช อีกทั้ง บพค. และคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ภายใน #สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (BSE) สถาบันวิทยสิริเมธี VISTEC
ต่อมา บพค. และคณะผู้ทรงคุณวุฒิ เดินทางมายังอาคาร IOC ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ ณ #เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (#EECi) เพื่อรับฟังการนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการ “พัฒนาวิธีทดสอบยานยนต์อัตโนมัติในสนามทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ” โดยมี ดร.ปาษาณ กุลวานิช สังกัดกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นหัวหน้าโครงการ โดย บพค. ร่วมสนับสนุนครุภัณฑ์ที่ใช้ติดตั้งลงบนยานยนต์อัตโนมัติทดสอบในงานวิจัยนี้ ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการออกแบบวิธีทดสอบสมรรถนะการขับขี่สำหรับยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (Connected and Autonomous Vehicle: CAV) และการทดสอบระบบ Advanced driver assistance system (ADAS) เนื่องจากสภาพแวดล้อมของการคมนาคมในประเทศไทยแตกต่างจากประเทศผู้เป็นต้นแบบนวัตกรรมยานยนต์อัตโนมัติจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทดสอบยานยนต์อัตโนมัติในสภาพแวดล้อมจริงเพื่อให้มีความพร้อม ในการรองรับนวัตกรรมดังกล่าว โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนร่วมสนับสนุนถึง 3 แหล่งทุน คือ บพค. EECi และ บพข. รวมทั้งมี Stakeholder หลายหน่วยงาน ที่จะได้รับประโยชน์จากต้นแบบนวัตกรรมยานยนต์อัตโนมัติของโครงการ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี SCG LOGISTICS PANUS ASSEMBLY SUMMIT เป็นต้น จากผลการดำเนินงานทางโครงการได้ผลลัพธ์เป็นต้นแบบ 5 ต้นแบบ ได้แก่ รถกอล์ฟอัตโนมัติ รถ Autonomous feeder รถยนต์นั่งส่วนบุคคลแบบอัตโนมัติ (ADAS level 2-3) สนามทดสอบ CAV พร้อมวิธีทดสอบสมรรถนะความปลอดภัย และระบบรักษาความปลอดภัยทางถนนแบบ Active Safety ซึ่งโครงการนี้สามารถสร้างและพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูง เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาวิธีทดสอบยานยนต์อัตโนมัติจากนั้น และจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป นอกจากนี้ บพค. และคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ยังได้เยี่ยมชมพื้นที่สนามทดสอบยานยนต์อัตโนมัติ CAV Proving Ground และได้ทดลองนั่งรถยนต์อัตโนมัติของโครงการอีกด้วย
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ติดตามโครงการนี้ นักวิจัยได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและได้รับคำแนะนำจากคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ต่อผลการดำเนินงาน และแนวทางในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยเพื่อให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบต่อประเทศมากยิ่งขึ้น รวมถึงได้สร้างความเข้าใจและเห็นถึงผลการดำเนินโครงการในภาพรวมระยะ 1 ปี ซึ่งสะท้อนได้ชัดเจนขึ้นจากการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและลงพื้นที่วิจัย อีกทั้งได้รับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างนักวิจัยและหน่วยงานผู้ให้ทุน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันในอนาคตต่อไป