เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการ บพค. พร้อมนักวิเคราะห์อาวุโส เดินทางไปร่วมงานและกล่าวปิด “โครงการสร้างนักวิจัยในมหาวิทยาลัยให้เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจฐานนวัตกรรม” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผ่าน บพค. ภายใต้แผนงาน F13 (S4P21) ผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย และพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ และนวัตกรที่มีทักษะสูงให้มีจำนวนมากขึ้น และตรงตามความต้องการของประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี รองศาสตราจารย์ ภญ.ดร. จิตติมา ลัคนากุล สังกัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ ณ ห้องประชุมสยามฮอลล์ ชั้น 6 โรงแรม Eastin Grand Phayathai กรุงเทพมหานคร
ด้าน ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการ บพค. กล่าวว่า กองทุนส่งเสริม ววน. โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้มอบหมายให้ บพค. ดูแลและรับผิดชอบในแผนการพัฒนากำลังคนและการสร้างงานวิจัยขั้นแนวหน้าเป็นสำคัญ ตามยุทธศาสตร์ที่ได้แบ่งไว้ตามแผนด้าน ววน. ฉบับปัจจุบันคือ พ.ศ. 2566 – 2570 อย่างในวันนี้ถือเป็นตัวอย่างโครงการที่ดีที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการวิจัยของนักวิจัยระดับหลังปริญญาเอก-โท จำนวน 50 คน และมีความท้าทายอย่างมากในการที่จะบ่มเพาะความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ของนักวิจัยที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาให้สามารถพัฒนาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise: IDE) ได้ ผ่านการเรียนรู้จากโจทย์จริง แก้ไขปัญหาจากหน้างานจริง ตัดสินใจได้เอง ล้วนแล้วแต่เป็นทักษะแห่งอนาคตที่มีทั้งความสามารถอันเป็นสมรรถนะ (Competency) และทักษะส่วนบุคคล (Soft skills) ที่จำเป็นต่อการทำงานร่วมกันในสังคม
โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ภญ.ดร. จิตติมาฯ ได้กล่าวสรุปโครงการและเล่าถึงความสำเร็จของโครงการว่า การสนับสนุนทุนจากทาง บพค. ช่วยยกระดับการสร้างกำลังคนด้านการวิจัยขั้นสูงที่มีความพร้อมต่อการพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรมได้เป็นอย่างดีจนสามารถส่งมอบผลผลิตนักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกและหลังปริญญาโทได้จำนวน 50 คน ซึ่งสามารถต่อยอดไปเป็นผู้ประกอบการจนเกิด Spin-off company ที่มีการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เชิงลึก และจะเป็นฐานกำลังคนเพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงส่งเสริมการขยายตลาดของไทยต่อไปในอนาคตได้
“บพค. ขอแสดงความชื่นชมทีมผู้วิจัยหลักและผู้ร่วมวิจัยทั้ง Post-doctoral/Post-master ทุกคนที่สามารถนำส่งผลผลิตได้อย่างมีคุณภาพและส่งมอบความสำเร็จแก่แผนงานนี้ได้ อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มที่จะพัฒนากำลังคนได้อย่างยั่งยืน บพค. มีความคาดหวังอีกอย่างหนึ่งว่า การสนับสนุนของ บพค. จะส่งเสริมให้เกิดผลลัพธ์ที่มีความหมายเกินกว่าผลผลิตที่เป็นการนับจำนวนได้ กล่าวคือ กำลังคนที่สำเร็จจากโครงการไปนั้นจะมีภูมิคุ้มกันที่ดีต่อการรับมือกับความล้มเหลว เป็นคนที่เก่งในการออกแบบการทดลอง แก้ไขปัญหาและเป็นที่ไว้วางใจแก่องค์กรหรือภาควิชาได้ ซึ่งคนเหล่านี้จะสามารถสร้างผลกระทบ (Impact) ให้แก่ประเทศได้” ดร.ณิรวัฒน์ฯ กล่าวปิดโครงการและให้ข้อเสนอแนะ
สุดท้ายนี้ ดร.ณิรวัฒน์ฯ ได้กล่าวสรุปตอนท้ายต่อโครงการว่า อยากให้นักวิจัยทุกท่านนำเอาองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากโครงการในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดงานวิจัย ต่อยอดความเชี่ยวชาญและต่อยอดแนวคิดต่าง ๆ ที่มีโอกาส ซึ่งเราจะสามารถมองเห็น Pain point ว่าสามารถทำให้ดีขึ้นได้อย่างไรดังคำกล่าวที่ว่า The biggest room in the world is the room for improvement และ บพค. พร้อมที่จะเป็นที่พึ่งพาให้แก่ระบบ ววน. ในด้านการสร้างกำลังคนและงานวิจัยขั้นแนวหน้าของประเทศต่อไปในอนาคต