บพค. เปิดเวทีระดมความคิดเห็น “กลไกการสนับสนุนการพัฒนากำลังคนทักษะสูง” มุ่งขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เป็นประธานเปิดการประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 2 เรื่อง “กลไกการสนับสนุนการพัฒนากำลังคนทักษะสูง (High Skill Workforce)” ณ ห้องประชุม C โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิจัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาเข้าร่วมอย่างคับคั่ง เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็นในการกำหนดแนวทางเชิงกลยุทธ์สำหรับการพัฒนากำลังคนของประเทศให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง บพค. และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนากลไกใหม่ในการสร้างกำลังคนทักษะสูง รองรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและอนาคต ทั้งนี้ บพค. มุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยตั้งเป้าเพิ่มกำลังคนสมรรถนะสูงให้ได้ 9.5 ล้านคน และบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม 420,000 คนภายในปี 2570

ศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองผู้อำนวยการ สอวช. เน้นย้ำบทบาทสำคัญของ บพค. ในการพัฒนาผลผลิตเชิงคุณภาพและกลไกใหม่เพื่อสร้างกำลังคนทักษะสูงในสาขาเทคโนโลยีแห่งอนาคต ควบคู่กับการพัฒนาระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้เข้มแข็งและยั่งยืน รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจฐานความรู้ นอกจากนี้ ศ.ดร.สุรินทร์ ยังได้วิเคราะห์ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศ โดยแม้ประเทศไทยจะมีกำลังคนทักษะสูงอยู่ประมาณ 680,000 คน และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ประมาณ 250,000 คน แต่ยังคงเผชิญข้อท้าทายด้านคุณภาพผลงานวิจัย เช่น ค่าดัชนี FWCI อยู่ที่ 1.33 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย 1.5 การจดสิทธิบัตรระดับประเทศยังมีจำนวนจำกัด จึงต้องเร่งผลักดันการวิจัยร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน
เวทีการประชุมยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเสนอข้อคิดเห็นหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการปรับแนวทางการจำแนกประเภทกำลังคนจากเดิมที่ใช้ “ระดับการศึกษา” มาเป็น “ระดับทักษะ” เพื่อให้สะท้อนถึงสมรรถนะที่แท้จริงของบุคลากร พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเส้นทางอาชีพเฉพาะทางให้กับนักวิจัยในสาขาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้เสริมสร้างทักษะ Soft Skills ที่สำคัญ อาทิ ทักษะการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม ความสามารถในการสร้างเครือข่าย และภาวะผู้นำเชิงสร้างสรรค์
ในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวิจัยและพัฒนา ผู้เข้าร่วมเสนอให้เน้นการใช้งานทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ แทนการลงทุนสร้างใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม ขณะเดียวกันยังได้มีข้อเสนอให้จัดตั้งแพลตฟอร์มความร่วมมือในรูปแบบ Consortium และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบสหวิทยาการ (Multidisciplinary Infrastructure) เพื่อส่งเสริมการทำงานวิจัยแบบข้ามศาสตร์
ด้านสังคมศาสตร์ มีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมของสังคมในยุคเทคโนโลยีภายใต้แนวคิด “SHA Frontier” โดยเน้นการพัฒนาทั้งในมิติด้านจิตวิญญาณ การอยู่ร่วมกันอย่างเคารพในความหลากหลาย รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นระดับโลก อาทิ การรู้เท่าทันปัญญาประดิษฐ์ (AI Literacy) และสิทธิมนุษยชน (Human Rights)
ดร.ณิรวัฒน์ กล่าวสรุปปิดการประชุมโดยเน้นย้ำว่า ความสำเร็จของการพัฒนากำลังคนทักษะสูงจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ โดยเฉพาะการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตอย่างมั่นคง

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน
และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา
การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

Program Management Unit for Human Resources & Institutional
Development,Research and Innovation (PMU-B)

319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน
เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
02-109-5432 ต่อ 845
[email protected]

ช่องทางการติดต่อสารบรรณของหน่วยงาน :
[email protected]

      ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่