วันนี้ (28 มกราคม 2568) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากําลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สํานักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม มุ่งเดินหน้า “โครงการยกระดับทักษะกำลังคนหลังกำแพงเพื่อเพิ่มความสามารถในการประกอบอาชีพให้ก้าวทันต่อยุคแห่งดิจิทัล โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับผู้ต้องขัง เพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน และส่งเสริมการประกอบสัมมาอาชีพหลังพ้นโทษ ตั้งเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาคนให้มีทักษะแรงงานสูง (High-skill Workforce) ทางด้านดิจิทัลให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (Technology Disruption) จำนวนอย่างน้อย 1,000 คน ภายในปี 2569
โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นสักขีพยานในพิธีฯ พร้อมกันนี้ ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. ในฐานะรักษาการแทนผู้อำนวยการ บพค. และ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โดยมี นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ บพค. เป็นพยาน ณ ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า ชั้น 1 กระทรวง อว. ถนนโยธี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
โครงการนี้มีเป้าหมายในการเตรียมความพร้อมด้านทักษะดิจิทัลให้กับผู้ต้องขัง เพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัวและพัฒนาตนเองเข้าสู่สังคมได้อย่างมั่นใจ อีกทั้งยังช่วยสร้างโอกาสใหม่ในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โครงการดังกล่าวได้ริเริ่มความร่วมมือจากกรมราชทัณฑ์ที่มีภารกิจในการส่งเสริมให้กำลังคนหลังกำแพง ซึ่งหมายรวมถึง ผู้ต้องขังเขตเรือนจำและบุคลากรของกรมราชทัณฑ์ ที่มุ่งหมายให้มีการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้ามาเสริมทักษะแก่บุคคลเหล่านี้ ซึ่งสอดคล้องตามแนวทางและนโยบายของนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) อันเป็นการสร้างทักษะความรู้ความสามารถอย่างยั่งยืน อีกทั้งแนวทางการสร้างความร่วมมือและการสนับสนุนของโครงการนี้ ได้ริเริ่มขึ้นมาเมื่อครั้ง ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ในขณะนั้นได้หารือกับนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ถึงการร่วมมือที่จะผลักดันให้กลุ่มผู้ต้องขังและบุคลากรในสังกัดกว่า 200,000 คนมีทักษะอาชีพใหม่ ๆ ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานและอุตสาหกรรมยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)
โอกาสนี้ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ได้แสดงความยินดีต่อการสร้างความร่วมมือครั้งนี้ว่า “วันนี้ รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือครั้งสำคัญซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศและแนวทางของสภานโยบายฯ โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) รวมถึงการพัฒนาทักษะ Re-skill และ Up-skill ให้กับกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ได้แก่ กลุ่มคนหลังกำแพง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มศักยภาพให้บุคคลเหล่านี้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมั่นใจ โดยความร่วมมือนี้จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนนโยบายของกระทรวง อว. ในการพัฒนากำลังคนให้ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ด้าน ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. รักษาการแทนผู้อำนวยการ บพค. เปิดเผยว่า “บพค. มีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการพัฒนาทักษะกำลังคนอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการโอกาสในการเริ่มต้นใหม่ เราเชื่อมั่นว่าวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยกระดับชีวิตและศักยภาพของผู้ต้องขังให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน”
พร้อมกันนี้ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “กรมราชทัณฑ์มีความเชื่อมั่นว่าการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพคือรากฐานสำคัญของการสร้างอนาคตใหม่ให้กับผู้ต้องขัง การร่วมมือกับ บพค. ในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและวิทยาศาสตร์วิจัยครั้งนี้ เป็นการตอบโจทย์ทั้งความต้องการของอุตสาหกรรมในปัจจุบันและการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เราเชื่อว่าเมื่อผู้ต้องขังได้รับทักษะและความรู้ที่เพียงพอ พวกเขาจะสามารถกลับมามีบทบาทในสังคมได้อย่างเต็มที่และยั่งยืน”
โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของคนหลังกำแพงผ่านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) บพค. ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสร้างโอกาสใหม่ให้คนกลุ่มนี้สามารถปรับตัว และกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างยั่งยืน