เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนเพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 ระยะ 5 ปี ของจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยวิจัย นวัตกรรม และกลไกภาคี PES ( Payment for Ecosystem Service) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมภาคีเครือข่าย ณ โรงแรมวินทรี ซิตี้ รีสอร์ท จ.เชียงใหม่
โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมกล่าวว่า “การกำหนดให้ใช้มาตรการหยุดเผาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จะเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้ โดยต้องอาศัยความรู้ด้านวิจัย นวัตกรรมมาช่วยให้ความรู้หาวิธีกำจัดเศษซากวัสดุทางการเกษตรต่าง ๆ ทดแทนการเผาทำลาย โดยการจัดงานครั้งนี้เป็นเรื่องดี ในฐานะหัวหน้าทีมฝ่ายปฏิบัติยินดีจะได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ และนวัตกรรมจาก กองทุนส่งเสริม ววน. เพื่อให้การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้ร่วมทำงานแก้ปัญหาไปพร้อมกัน”
โอกาสนี้ ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เผยว่า สกสว. และหน่วยงานภาคีจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ขึ้น ถือเป็นการ “คิกออฟ” กระบวนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือตอนบนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทางกองทุนส่งเสริม ววน. ได้จัดสรรงบประมาณในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 พื้นที่ จ.เชียงใหม่ ในปีงบประมาณ 2566 – 2567 ประมาณ 130 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2568 ขยายพื้นที่ครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน งบประมาณทั้งสิ้น 450 ล้านบาท และคาดว่าจะจัดสรรงบฯเพิ่มเติมอีกในปีต่อไปอีก 450 ล้านบาท รวม 2 ปี 900 ล้านบาท
ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวต่อว่า กสว. จะต้องเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้บรรลุผลภายใน 2 ปี โดยเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ไปจนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2569 มีเป้าหมายคือ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนจะต้องปลอดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 และไร้หมอกควัน ในเบื้องตัน ได้วางแผนปฏิบัติการ 3 ขั้น 1) จำนวนวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ไม่เกิน 50 วัน/ปี 2) ลดจำนวนสถิติผู้ป่วย COPD ที่แอดมิทครั้งแรก จากสาเหตุฝุ่นไม่ให้เกิน 1,000 คน/ปี และ 3) ลดจำนวน Hotspot (จากแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 จากการเผาในที่โล่ง) ที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่เกิน 4,000 จุด/ปี
ด้าน ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. ในฐานะเลขา กสว. มีบทบาทในการนำองค์ความรู้งานวิจัย และนวัตกรรมมาใช้แก้วิกฤต PM 2.5 โดยที่ผ่านมา ระบบ ววน. มีแผนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนงานวิจัยในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น 1) แผนงาน Haze Free Thailand และปัญหา PM2.5 (สนับสนุนทุนในปี 2563-2567) และ 2) แผนงาน P24 แก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ โดยมุ่งประเด็นวิจัยนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนฝุ่นละออง PM 2.5 แบบมุ่งเป้าและบูรณาการ (สนับสนุนทุนในปี 2566-2567) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจากหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (PMUs) ทั้งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ร่วมกันโดยกำหนดกลุ่มการดำเนินงานเป็น Work Package (WP) ตามมิติการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการการขยายผลเพื่อบูรณาการความร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการฝุ่น PM2.5 ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ต่อไปในยุทธศาสตร์เป้าหมายของ สกสว.