บพค – ธัชวิทย์ ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ Opportunities of engineering biology และ Gap analysis ที่เกี่ยวข้องกับ Synthetic biology ของประเทศไทย โดยความร่วมมือของสถานทูตสหราชอาณาจักร-บวท-Bioeconomy Corporation มาเลเซีย

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วย ดร.สนธยา ชัยอาวุธ และ ดร.ศุภฤกษ์ บุพศิริ นักวิเคราะห์อาวุโส เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ในหัวข้อ “Opportunities of engineering biology และ Gap analysis ที่เกี่ยวข้องกับ synthetic biology ของประเทศไทย” ซึ่งจัดกิจกรรมนี้เป็นครั้งที่ 3 มุ่งเป้าประเด็นการทำกิจกรรมเรื่อง “Foresight and Recommendation ที่เกี่ยวข้องกับ Synthetic biology/engineering biology ของประเทศไทย” อำนวยการจัดการประชุมโดยมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท. หรือ Thai Academy of Science and Technology, TAST) กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร และ Bioeconomy Corporation ประเทศมาเลเซีย โดยมี ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการบริหาร บวท. เป็นประธานในการจัดงาน พร้อมด้วยคุณวัชริน มีรอด นักวิจัยนโยบายอาวุโส BIOTEC สวทช. และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ นักยุทธศาสตร์ บพข. ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายด้วย ณ ห้องประชุม Autumn โรงแรมชาเทรียม เรสซิเดนซ์ สาทร กรุงเทพฯ

โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานภาพปัจจุบัน และโอกาสในการนำชีววิทยาสังเคราะห์ไปใช้ประโยชน์อย่างปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับในประเทศมาเลเซียและประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการระดมความเห็นในการตอบคำถามถึงประเด็น ชีววิทยาสังเคราะห์จะสามารถสร้างโอกาสอะไรให้กับอุตสาหกรรมในช่วงระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า และห้วงระยะเวลาถัดไปผ่านการมองเป้าหมายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า โดยนำเอาสัญญาณ (Signal) หรือสิ่งที่กำลังเป็นจุดสนใจมาเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาถึงฉากทัศน์ที่สำคัญ (Scenario) อันจะเกิดขึ้นในระยะต้น กลางและปลายทางนั้น ๆ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางให้เห็นการมองภาพอนาคต (Foresight) จากวิสัยทัศน์สู่แผนที่นำทางไปสู่เป้าหมายของประเทศไทย

โอกาสนี้ ดร.ภาวดีฯ และนักวิเคราะห์ บพค. ได้ร่วมกิจกรรมระดมสมองในการกำหนดนโยบายและแผนการดำเนินงานให้เห็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องการจะเดินหน้าไปพร้อมกับนักวิจัยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากทั้งหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชนและประชาสังคมกว่า 40 คน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาชีววิทยา เภสัชวิทยา เคมีชีวภาพ เทคโนโลยีชีวภาพและอื่น ๆ เพื่อเลือกเอาสิ่งที่กำลังเป็นที่น่าสนใจมาออกแบบ Foresight ที่สำคัญแก่ประเทศไทย โดยพิจารณาจากปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ทั้งในเชิงนโยบาย (Policy) เศรษฐศาสตร์ (Economics) สังคมศาสตร์ (Social science) เทคโนโลยี (Technology) สิ่งแวดล้อม (Environment) และกฎระเบียบ/ข้อบังคับ (Law/Regulation) ซึ่งในมุมมองของหน่วยงานบริหารจัดการทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยการสนับสนุนเงินงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เล็งเห็นว่า การผลักดันชีววิทยาสังเคราะห์หรือ SynBio เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมฐานชีวภาพของประเทศไทยยกระดับไปสู่ขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาคได้ หากได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน พร้อมด้วยการมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยและการสร้างนวัตกรรมที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่มีความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา อันจะเป็นการยกระดับสถานะงานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ของไทยได้มีจุดยืนในเวทีโลก และขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านชีวภาพได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ บพค. ได้ขับเคลื่อนการสนับสนุนผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านแพลตฟอร์มวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยหรือธัชวิทย์ (Thailand academy of sciences) ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยการผลักดันผ่านมิติที่ 1 Frontline Think Tank ด้านชีววิทยาสังเคราะห์ที่มีสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก พร้อมด้วยการดำเนินงานในมิติที่ 2 Frontier Science Alliances ที่มีผลักดันประเด็นการใช้ชีววิทยาสังเคราะห์เป็น Cutting-edge technology ในการประยุกต์ใช้ต่อการรับมือภาวะโลกรวน เพื่อมุ่งเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยภายในปี 2050 โดยมีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายหน่วยงาน ทั้งศูนย์ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย บริษัทเอกชนและกลุ่มเกษตรกรในชุมชนเข้าร่วมใน Consortium ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมระดับมหภาคต่อไป

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน
และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา
การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

Program Management Unit for Human Resources & Institutional
Development,Research and Innovation (PMU-B)

319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน
เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
02-109-5432 ต่อ 845
[email protected]

ช่องทางการติดต่อสารบรรณของหน่วยงาน :
[email protected]

      ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่