เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยนักวิเคราะห์อาวุโส และเจ้าหน้าที่สนับสนุน บพค. เข้าร่วมประชุม Next Generation Aviation Professional (NGAP) PMU-B Funding Program: Kick-off Meeting สำหรับอุตสาหกรรมการบินเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ Digital Transformation ที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล ICAO ภายใต้โครงการการพัฒนาบุคลากรทักษะสูงรองรับนวัตกรรมใหม่ โดยมี ดร.ณพศิษฎ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานประชุม ณ ห้องประชุม C3 สานักงานใหญ่ EECi เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง
การประชุม NGAP PMU-B Funding Program: Kick-off Meeting เป็นการประชุมเปิดตัวการเริ่มดำเนินโครงการ รวมทั้งสื่อสาร แนะนำผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจที่มีศักยภาพร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน พร้อมด้วยการเป็นผู้พัฒนานวัตกร เพื่อเตรียมพร้อมพัฒนาโครงการด้าน Digital Transformation รวมถึงแนะนำโครงสร้างพื้นฐานด้านการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรม สิ่งอำนวยความสะดวก และระบบที่เกี่ยวข้อง ด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุรนารี วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เป็นต้น เข้าร่วมประชุม
โครงการ NGAP ได้ดำเนินการวิจัยโดย บวท. เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพค. ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านแผนงาน F13 ผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์และนวัตกรที่มีทักษะสูงให้มีจำนวนมากขึ้น และตรงตามความต้องการของประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โอกาสนี้ ดร.ภาวดีฯ ได้กล่าวถึงกลไกและเป้าหมายในการสนับสนุนทุนสำหรับการพัฒนากำลังคนทักษะสูง นำไปสู่อาชีพที่สร้างประโยชน์ในอุตสาหกรรมการบิน เพื่อรองรับการเปิดใช้งานสนามบิน 3 สนามบิน ในช่วง 7 – 8 ปีข้างหน้า ซึ่งต้องการคนทักษะสูง 30,000 คน โดยในปีแรก บพค. สนับสนุนโครงการฯ ในการพัฒนาบุคลากรจำนวน 300 คน ประกอบด้วย การพัฒนากำลังคนให้มีทักษะด้านการเป็นนวัตกร (Aviation Innovator) จำนวน 50 คน กำลังคนที่มีทักษะด้านการเป็นผู้ใช้งานขั้นสูง (Aviation Specialist) จำนวน 50 คน ผู้ดูแลระบบ/ ผู้เริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมการบิน (Aviation Professional/ Newcomer) จำนวน 180 คน กำลังคนที่มีทักษะด้านการเป็นผู้ฝึกสอน (Aviation Trainer) จำนวน 20 คน
ด้าน ดร.อนุกูล แต้มประเสริฐ หัวหน้าโครงการฯ ได้นำเสนอแนวคิด NGAP และการเชื่อมโยงโครงการ กับ ICAO ซึ่ง ICAO ได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการมีกระบวนการรองรับการนำ Technology ใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนการบินแบบบูรณาการ การใช้ระบบดิจิทัลเทคโนโลยี มาทดแทนระบบแอนนาล็อกเดิม โดยมีกรอบแนวคิด (Framework) ต้นแบบซึ่งประกอบไปด้วยรูปแบบการทำงานใน 4 ด้าน ซึ่งเรียกว่า “Project Lead the Way” ได้แก่ 1) Requirement 2) Flow 3) Assurance เป็นการรับรองมาตรฐานทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ และ 4) Output การแลกเปลี่ยนหลักสูตรในมหาวิทยาลัย และต่างมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ นายสุรพล คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการจัดเตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการการเดินอากาศ ณ สนามบินอู่ตะเภา และ ดร.นวทัศน์ ก้องสมุทร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมเสนอกรอบการดำเนินการของโครงการ NGAP PMU-B Funding Program ซึ่งเปิดรับการสร้างคนใน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย บุคลากรของวิทยุการบินฯ บุคลากรในกิจการบิน/ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง บัณฑิตที่มีทักษะวิศวกรรม/บุคลากรจากภาคอุตสาหกรรม และผู้ใช้หัวงอากาศรายใหม่ (New Air Space Users) โดยกิจกรรมสำคัญ ของ NGAP ได้แก่ การสร้างเครือข่าย การจัดการศึกษาและฝึกอบรม การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การสร้างกลไกสนับสุนนวัตกรรม การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ การติดตามประเมินผล การสนับสนุนอาชีพ เป็นต้น
บพค. ในฐานะหน่วยงานจัดสรรทุนเพื่อพัฒนากำลังคนและการวิจัย มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสนับสนุนทุนพัฒนากำลังคนทักษะสูงที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมแบบ Demand-driven รวมถึงการส่งเสริมงานวิจัยขั้นแนวหน้า โดย บพค. มีความยินดีในการสนับสนุนการพัฒนาทักษะบุคลากรตามนโยบายของกระทรวง อว. ทั้งด้าน AI, EV และ Semiconductor และพัฒนาบุคลากรตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมมุ่งเป้าแห่งอนาคต (New S-Curve) ซึ่งจะเป็ฯการสร้างโอกาสในการจ้างงาน และเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทย