ระหว่างวันที่ 17 – 21 กันยายน 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้าน NET ZERO ตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในการสัมมนาธุรกิจ “Thailand’s Renewables Strategy and Hydrogen Ecosystem: Unlocking Sustainable Business and Investment Pathways to Net Zero” ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมี นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ให้การต้อนรับและสนับสนุนการเดินทางและความร่วมมือในครั้งนี้
การสัมมนา รศ.ดร.เศรษฐ์ฯ ได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในหัวข้อ Academic Insights on Human Resource Development: Shaping Thailand’s Renewable Energy and Hydrogen Industry for Future Growth นำเสนอวิสัยทัศน์ นโยบายของประเทศไทย และพันธกิจ บพค. ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Net Zero) รวมถึงโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนด้านการพัฒนากำลังคนในอนาคตของไทย
คณะผู้ร่วมเดินทางประกอบด้วย นางสาวจารุวรรณ พิมสวรรค์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการวางแผนยุทธศาสตร์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน นายธนา ศรชำนิ ผู้จัดการ สังกัดฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีพลังงานใหม่ สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นางสาวจิตราภรณ์ อินชวนจิ๋ว หัวหน้ากองศูนย์ข้อมูลและค้าเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายเนรัญ สุวรรณโชติช่วง ผู้อำนวยการ Hydrogen Thailand Club
นอกเหนือจากการร่วมสัมมนา คณะผู้แทนยังได้เดินทางไปศึกษาดูงานด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีไฮโดรเจน ณ Fraunhofer Institute ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยชั้นนำด้านเทคโนโลยีพลังงานในเยอรมนี รวมถึงเยี่ยมชม Siemens Energy Headquarters เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมพลังงานระดับโลก
การเข้าร่วมเสวนาครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน และสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนและไฮโดรเจน ที่จะมีบทบาทสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในอนาคต