บพค. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการ HandySense เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเพื่อเกษตรกรไทย

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การเรียนรู้บ้านนิคม อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. จัดกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาเยาวชนสมรรถนะสูงด้าน Coding เพื่อประยุกต์ใช้ในการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งเน้นบูรณการการใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์และอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง HandySense อันเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการฟาร์มแบบแม่นยำ
ด้วยทาง บพค. นั้นได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่โครงการ HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปี (2566-2567) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งพัฒนากำลังคนและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย การสนับสนุนนี้สอดคล้องกับพันธกิจของ บพค. ในการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. กล่าวถึงความสำคัญของโครงการว่า “HandySense เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับภาคการเกษตรไทย บพค. ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่พัฒนาเทคโนโลยี แต่ยังมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้าน Coding ให้แก่เยาวชน สร้างโอกาสทางอาชีพใหม่ ๆ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยมุ่งสู่การเป็นประชากรอัจฉริยะ (Smart Citizen) ด้วย”
สำหรับเทคโนโลยี HandySense ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บพค. เป็นระบบเกษตรแม่นยำที่พัฒนาโดยทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบบนี้ช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมและตรวจสอบสภาพแวดล้อมในแปลงเกษตรผ่านสมาร์ทโฟน ช่วยประหยัดทรัพยากร เวลา แรงงานและเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีคุณภาพสูงเพียงปลายนิ้วสัมผัส

จากการติดตามผลการดำเนินงานของ บพค. พบว่า HandySense สามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างน้อย 20% ผ่านการลดต้นทุนการผลิต ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเพิ่มคุณภาพของผลผลิต ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ บพค. ในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และโมเดลต้นแบบการพัฒนากำลังคนที่เป็นเยาวชนกลุ่มนี้จะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นดีที่จะสามารถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปยังเกษตรกรรุ่นอื่น ๆ ต่อไปได้ในอนาคต ซึ่ง บพค. มองว่า การพัฒนาคนนั้นคือ ฐานรากแห่งความสำเร็จในการพัฒนาประเทศชาติได้อย่างยั่งยืนที่สุด และยังสอดรับกับการปรับตัวให้เท่าทันต่อยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา (Technology Disruption) อีกด้วย
โดยในการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี HandySense ได้มีการจัดกิจกรรม แนะนำบทบาทของศูนย์การเรียนรู้พื้นที่แปลงเกษตรอัจฉริยะของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร โดยนายฉัตรชัย สิทธิหาโคตร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงบทบาทของศูนย์ฯ และแผนการต่อยอดความรู้จากโครงการว่า “ศูนย์ของเรามีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางระหว่างเทคโนโลยีและเกษตรกร เรามีแผนที่จะนำความรู้จากโครงการ HandySense ไปขยายผลในชุมชนเกษตรกรรมอื่น ๆ ในจังหวัดขอนแก่น โดยจะจัดอบรมเชิงปฏิบัติการและสร้างเครือข่ายเกษตรกรที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง”

ด้าน นายคำใส ทองโคตร ประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่พืชผักสมุนไพรบ้านนิคม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทของศูนย์การเรียนรู้บ้านนิคมว่า “ศูนย์การเรียนรู้ของเราเป็นพื้นที่สาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ให้กับเกษตรกรในชุมชน การนำ HandySense มาใช้ทำให้เราเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ซึ่งสร้างความสนใจให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ ในการนำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้”

ทั้งนี้ หน่วยงาน บพค. และ NECTEC ได้ดำเนินการขยายพื้นที่สาธิตนวัตกรรมดังกล่าว กว่า 200 แห่งทั่วประเทศและ มีแผนในการขยายผลโครงการนี้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรและโปรแกรมฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีการเกษตรอย่างยั่งยืน และสร้างโอกาสทางอาชีพใหม่ ๆ เช่น นักพัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะ หรือที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีการเกษตร รวมถึงการพัฒนากำลังคนด้าน Coding ในเยาวชนเพื่อเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศต่อไป

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน
และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา
การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

Program Management Unit for Human Resources & Institutional
Development,Research and Innovation (PMU-B)

319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน
เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
02-109-5432 ต่อ 841
[email protected]

ช่องทางการติดต่อสารบรรณของหน่วยงาน :
[email protected]

      ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่